แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ระงับการจำหน่ายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. จึงไม่มีประเด็นแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว และแม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ดังนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างเดียว แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/30
มาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะซึ่งขัดหรือแย้งกับมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงมีผลยกเว้นมาตรา 448 วรรคหนึ่งเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 448 วรรคหนึ่งในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด
จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในช่วงเวลานับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่ามูลเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอายุความในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเริ่มนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 624,194.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ระบุในคำสั่งที่ 74/2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 74/2554
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค 1 จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 624,194.41 บาท (ที่ถูก คือ 624,194.40 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว ตามที่ระบุในคำสั่งที่ 74/2554 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ที่แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งที่ 053/2553 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 โจทก์ทำสัญญาขายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปร์มิลค์มาร์เก็ตติ้ง โดยกำหนดส่งมอบน้ำนมดิบระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าน้ำนมดิบที่ได้รับไประหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องและศาลจังหวัดสระบุรีพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปร์มิลค์มาร์เก็ตติ้งกับพวกชำระค่าน้ำนมดิบพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่า กรณีไม่เข้าข่ายความรับผิดทางละเมิดจึงเห็นควรยุติเรื่อง โจทก์ส่งสำนวนให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตรวจสอบ กรมบัญชีกลางมีคำวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,783,412.58 บาท ให้จำเลยและนายธวัชชัย รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ 70 ของต้นเงินดังกล่าวและดอกเบี้ย โดยให้รับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ออกคำสั่งที่ 053/2553 ให้จำเลยกับพวกชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์ออกคำสั่งที่ 74/2554 แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งที่ 053/2553 แต่ยังคงให้จำเลยกับพวกชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ 74/2554 เกินกำหนด โจทก์จึงไม่รับวินิจฉัย แล้ววินิจฉัยว่า ปัญหาตามคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่ โดยเห็นว่าฟ้องโจทก์มิใช่เรื่องละเมิดกรณีปกติ แต่เป็นละเมิดกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้อง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งอายุความต้องบังคับตามมาตรา 10 วรรคสอง เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดทางละเมิด แต่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เห็นว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แล้วโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำวินิจฉัยของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตามคำสั่งที่ 74/2554 แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งที่ 053/2553 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 ตุลาคม 2554 นับจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 อันเป็นวันที่โจทก์มีคำสั่งที่ 74/2554 ถึงวันฟ้องแล้วไม่เกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กล่าวคือ หลังจากทำสัญญาขายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 จำเลยไม่ได้จัดส่งสัญญาให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบทำให้ขาดความชัดเจนว่าการชำระค่าน้ำนมดิบจะชำระเมื่อใด ณ สถานที่ใด หรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้มีหน้าที่ส่งสัญญาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ไม่ได้กำหนดแนวทางให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ ขาดการประสานงานในการรับชำระเงินหรือติดตามหนี้ หรือขาดการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกฝ่ายไม่ได้ติดตามว่ามีการชำระหนี้ครบตามสัญญาหรือไม่ และขาดการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อระงับการขายตามเงื่อนไขของสัญญา เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งไม่ชำระค่าน้ำนมดิบที่รับไประหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 แก่โจทก์ โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามคำสั่งที่ 74/2554
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ระงับการจำหน่ายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปร์มิลค์มาร์เก็ตติ้งเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว และแม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยให้ แต่ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี กรณีถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างเดียว แต่โจทก์ระบุชัดเจนในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดต่อโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่า ขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 และ 193/30 ส่วนฟ้องในมูลละเมิดนั้นแม้มาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่เป็นกฎหมายพิเศษจะบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือมิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดแต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง” อันเป็นการขัดหรือแย้งกับมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นกฎหมายทั่วไป จึงมีผลยกเว้นมาตรา 448 วรรคหนึ่งเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 448 วรรคหนึ่งในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาขายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 จำเลยไม่ได้จัดส่งสัญญาให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบทำให้ขาดความชัดเจนว่าการชำระเงินค่าน้ำนมดิบจะชำระเมื่อใด ณ สถานที่ใด หรือหน่วยงานใดมีหน้าที่ส่งสัญญาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ไม่ได้กำหนดแนวทางให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติในเรื่องการชำระหนี้ ขาดการประสานงานในการรับชำระเงินหรือติดตามหนี้และขาดการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ทุกฝ่ายไม่ได้ติดตามว่ามีการชำระหนี้ครบตามสัญญาหรือไม่ รวมทั้งขาดการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อระงับการขายตามเงื่อนไขของสัญญา เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งผิดนัดไม่ชำระค่าน้ำนมดิบที่รับไประหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 ถึงวันที่31 สิงหาคม 2544 แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในช่วงเวลานับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่ามูลเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอายุความในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเริ่มนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการอื่นเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1