แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ยักยอก ฉ้อโกง ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ++
ในกรณีที่ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาต่อนิติบุคคลเสียเองนั้นผู้แทนของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดย่อมไม่จัดการแทนนิติบุคคลโดยฟ้องร้องกล่าวหาตนเองต่อศาล ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด และ ป.พ.พ.มาตรา 1169 บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีได้หากกรรมการทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ดังนี้จึงถือได้ว่าผู้ถือหุ้นในบริษัท พ.เป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องคดีได้ตามมาตรา 28(2) โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกในความผิดฐานยักยอก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัท พ.ร่วมกันทำรายงานการประชุมของบริษัท พ.ว่า โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทไม่ได้นำเงินมาให้บริษัทกู้ยืมตามสัดส่วนที่ถือหุ้นเพื่อชำระราคาที่ดินเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ต้องหาเงินมาให้บริษัทกู้ยืมแทน และที่ดินพิพาทไม่เป็นประโยชน์แก่บริษัทจึงเห็นสมควรขายให้จำเลยที่ 3 ในราคา 21,000,000 บาท อันเป็นความเท็จ การที่จำเลยที่ 2ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3โดยไม่มีการซื้อขายกันจริง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท พ.ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ได้ทำรายงานการประชุมมีข้อความว่าได้ติดต่อซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัท พ. ซึ่งเป็นข้อความเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการยักยอกทรัพย์ของบริษัท พ.
ในวันที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท บริษัท พ.ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำการขายที่ดินพิพาทตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินพิพาทคือจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ แต่เนื่องจากคู่สัญญาต่างเป็นนิติบุคคลจึงต้องแสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วยเพื่อตรวจสอบอำนาจของกรรมการของนิติบุคคลนั้น และคู่สัญญาต้องส่งรายงานการประชุมของนิติบุคคลดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบเจตนาและวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาด้วย ข้อเท็จจริงรับฟังว่ารายงานการประชุมของบริษัท พ.เป็นเอกสารเท็จ และไม่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ให้ถ้อยคำดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานในการซื้อขาย โดยประการที่ทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท พ.ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานยักยอก ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และเห็นว่าความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการเป็นกรรมเดียว แต่เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานยักยอก และเรียงกระทงลงโทษเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานยักยอกเพียงบทเดียวจึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาแก้โทษของจำเลยที่ 3ที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษมา กลับพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๒ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๒ เวลากลางวัน จำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยทั้งหกร่วมกันเบียดบังเอาที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๑๖๘๓ถึง ๙๑๖๘๗ รวม ๕ แปลง เนื้อที่ ๕ ไร่ ๕๙ ตารางวา ของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้างจำกัด ซึ่งโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของจำเลยที่ ๓ ด้วยเจตนาทุจริต โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทได้ร่วมกับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยอ้างว่าบริษัทดังกล่าวขายให้แก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งนี้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการร่วมกันยักยอกทรัพย์สินของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งหกโดยเจตนาทุจริตร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน๕ แปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ ๓ โดยอ้างว่าบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ผู้ซื้อได้ชำระราคาอีกทั้งผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินไว้แล้วอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วไม่มีการซื้อที่ดินกันจริง อันเป็นการร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงผู้ถือหุ้นของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด และโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการร่วมกันฉ้อโกงที่ดินของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้างจำกัด และโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๒ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๔ ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง (บางกะปิ) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้จดข้อความอันเป็นเท็จในแบบสอบสวนบันทึกถ้อยคำและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินในการซื้อขายที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชนและเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่าบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ผู้ขายได้ขายที่ดิน ๕ แปลง ให้แก่จำเลยที่ ๓ผู้ซื้อได้ชำระราคาและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินรายนี้เรียบร้อยแล้วซึ่งเป็นความเท็จความจริงแล้วบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด และจำเลยที่ ๓ มิได้ขายที่ดินและไม่มีการชำระเงินค่าที่ดินกันจริง โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันทำรายงานการประชุมของบริษัทและหนังสือมอบอำนาจขายที่ดินอันเป็นเท็จมอบให้แก่จำเลยที่ ๓และที่ ๔ นำไปประกอบการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ได้ร่วมกันทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ ๓ อันเป็นเท็จนำไปประกอบการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ ๓ไป การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐาน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๓๗,๒๖๗, ๓๔๑, ๓๕๒ และ ๓๕๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหายักยอกและข้อหาแจ้งความเท็จ (ที่ถูกข้อหาแจ้งความเท็จและข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ) ให้ประทับฟ้องข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาฉ้อโกงให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำคุกจำเลยที่ ๑ที่ ๒ และที่ ๔ คนละ ๓ ปี และปรับจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ในข้อหาดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๔คนละ ๓ ปี และปรับจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ คนละ ๖ ปี ปรับจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท คำให้การของจำเลยที่ ๒เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีและจำเลยที่ ๒ พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดตลอดมานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้จำเลยที่ ๒ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๒ ปี หากจำเลยที่ ๓ ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามมาตรา ๒๙ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๘๓จำคุกคนละ ๒ ปี คำเบิกความของจำเลยที่ ๒ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่คัดค้าน และโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๑และที่ ๔ ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นที่พอใจแล้ว ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ และขอถอนฎีกาของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ไม่คัดค้าน จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ขอแก้ไขคำให้การเป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ให้การรับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗,๒๖๗ และขอให้รอการลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๔
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหกในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ทั้งสองมิได้อุทธรณ์ในข้อหาดังกล่าว ดังนั้น ข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานยักยอกและความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานนั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดฐานร่วมกันยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ และจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔มีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามมาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นยกฟ้องโจทก์ทั้งสองทุกข้อหาส่วนโจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ในความผิดฐานยักยอกและฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ ๒ ในสถานหนักโดยไม่ลดโทษให้
คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันยักยอกที่ดิน ๕ แปลงของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด และร่วมกันแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง (บางกะปิ)เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารของทางราชการจริงหรือไม่ หากจำเลยที่ ๒ กระทำความผิดจริงตามฟ้อง มีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยที่ ๒ หรือไม่ อย่างไรก็ดีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งโจทก์ทั้งสองชอบที่จะถอนฟ้องในเวลาใดก็ได้ก่อนคดีถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๕ วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ในข้อหาดังกล่าวในระหว่างฎีกาและจำเลยเหล่านั้นไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ในความผิดฐานยักยอกได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙ (๒) ให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ออกเสียจากสารบบความ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ในความผิดฐานยักยอกย่อมสิ้นผลไปในตัว อนึ่งเมื่อศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ในความผิดฐานยักยอกแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ในข้อหาดังกล่าวย่อมตกไปด้วย แต่ความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองต้องขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง จะถอนฟ้องในชั้นฎีกาไม่ได้จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องสำหรับข้อหาความผิดตามมาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองขอถอนฎีกาสำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๖ นั้นเฉพาะจำเลยที่ ๒ เมื่อศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความแล้ว จึงไม่ต้องสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอถอนฎีกาในส่วนจำเลยที่ ๒ อีก คงเหลือฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เมื่อจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ไม่ค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองถอนฎีกาได้ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา
คงเหลือปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ แต่เพียงว่า จำเลยที่ ๓ ได้ยักยอกที่ดินของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัดจริงหรือไม่ และจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง (บางกะปิ) เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารของทางราชการจริงหรือไม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ในข้อแรกว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาต่อนิติบุคคลเสียเองนั้น เป็นที่เห็นได้ว่าผู้แทนของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดย่อมไม่จัดการแทนนิติบุคคลโดยฟ้องร้องกล่าวหาตนเองต่อศาลดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๙ บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีได้หากกรรมการทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ดังนี้จึงถือได้ว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) มีอำนาจฟ้องคดีได้ ตามมาตรา ๒๘ (๒)โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกในความผิดฐานยักยอก
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๓ ได้กระทำความผิดฐานยักยอก และจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามฟ้องหรือไม่ ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยที่ ๓ ได้ยักยอกที่ดินของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ ๑ เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะกรรมการบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ร่วมกันทำรายงานการประชุมของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ฉบับลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ตามเอกสารหมาย จ.๑๑ และ จ.๑๓ ว่า โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทไม่ได้นำเงินมาให้บริษัทกู้ยืมตามสัดส่วนที่ถือหุ้นเพื่อชำระราคาที่ดินเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ต้องหาเงินมาให้บริษัทกู้ยืมแทน และที่ดินพิพาทไม่เป็นประโยชน์แก่บริษัทจึงเห็นสมควรขายให้จำเลยที่ ๓ ในราคา ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วโจทก์ทั้งสองได้นำเงินไปให้บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด กู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินพิพาทตามสัดส่วนที่ถือหุ้นเป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์ที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขานานาเหนือ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๑ จำนวนเงิน๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินแต่ประการใด เนื่องจากตั๋วสัญญาใช้เงินค่าที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือ ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทครบกำหนดชำระในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๒ และบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัดยังได้รับอนุมัติจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ให้กู้ยืมเงินในวงเงิน๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการทำหมู่บ้านจัดสรรโครงการที่ ๒ บนที่ดินพิพาทต่อจากโครงการพระรามเก้าวิลล์ซึ่งเป็นโครงการแรก เนื่องจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ติดต่อกัน ที่ดินโครงการแรกมีถนน ๒ สาย กว้าง ๘ เมตรและ ๑๒ เมตร ถนนดังกล่าวเชื่อมติดต่อกับที่ดินพิพาท ในข้อนี้โจทก์ทั้งสองยังมีนายวรวุฒิวุฒิภิญโญ สมุห์บัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขานานาเหนือ กับนางสาวสุภาณี เสน่หาสมุห์บัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาตลาดน้อย เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าเช็คจำนวน ๖ ฉบับ ของโจทก์ที่ ๑ ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๖๓ ได้ถูกเรียกเก็บเงินโดยนำเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและบัญชีสะสมทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาตลาดน้อย จำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๖๔ และ จ.๖๕ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ทั้งสองยังมีนายเจริญ จันทร์สมิธมาศ ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ เป็นพยานเบิกความว่า ธนาคารได้อนุมัติให้วงเงินกู้แก่บริษัทพระรามเก้าก่อสร้างจำกัด จำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก ๑๐,๐๐๐,๐๐๐บาท รวมเป็น ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๖๘ และ จ.๖๙ นอกจากนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินค่าซื้อที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท เอกสารหมายจ.๑๐ ก็ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่จะครบกำหนดชำระเงินในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๒ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองมีเหตุผลเชื่อมโยงกันดีรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้นำเงินไปมอบให้บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด เพื่อซื้อที่ดินพิพาทตามสัดส่วนที่ถือหุ้นแล้วจึงไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด จะต้องระดมทุนเพิ่มเพื่อชำระราคาที่ดินพิพาทอีก ส่วนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด กับจำเลยที่ ๓ ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๒ นั้น โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ในวันดังกล่าวไม่มีการซื้อขายกันจริง เพราะจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ชำระเงินให้แก่บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด แต่อย่างใดโดยโจทก์ทั้งสองมีนายนิรันดร์เพชรชาติ ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนบัญชีกระแสรายวันธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่เป็นพยานเบิกความว่าตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้างจำกัด เอกสารหมาย จ.๑๙ ปรากฏว่าในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๒ อันเป็นวันซื้อขายที่ดินกันและในวันถัดมาไม่มีการนำเงินจำนวน ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ฝากเข้าบัญชีดังกล่าวเลย ที่จำเลยที่ ๒ อ้างว่าเหตุที่ต้องมีการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ในลักษณะดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน เนื่องจากการจัดสรรที่ดินตั้งแต่ ๑๐๐ แปลงขึ้นไป ผู้จัดสรรจะต้องจัดให้มีพื้นที่เป็นสนามเด็กเล่น ๑ แห่งโดยมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๒๐๐ ตารางวาขึ้นไป ดังนั้น การโอนที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ ๓ทำการจัดสรรจะทำให้บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องเสียเนื้อที่สนามเด็กเล่น และเมื่อโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๓ แล้ว ได้ตกลงให้จำเลยที่ ๓ โอนหุ้นของจำเลยที่ ๓ มาให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัดตามสัดส่วนที่ลงทุนและทำโครงการที่ ๒ ในนามของจำเลยที่ ๓ ต่อไป ก็ขัดต่อเหตุผลอีกทั้งเมื่อมีการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ แล้วไม่ปรากฏว่ามีการโอนหุ้นของจำเลยที่ ๓ ให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัดตามสัดส่วนที่ลงทุนแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่มีการซื้อขายกันจริง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้างจำกัด ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ได้ทำรายงานการประชุมตามเอกสารหมาย จ.๑๓ มีข้อความว่าได้ติดต่อซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ในราคา ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นข้อความเท็จ การกระทำของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นการยักยอกทรัพย์ของบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด
ส่วนความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการนั้น โจทก์ทั้งสองมีนางพวงเพชร เจริญวิริยะภาพเจ้าพนักงานบริหารที่ดิน ระดับ ๗ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเบิกความเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ทำการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทในคดีนี้ ในวันที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ทำการขายที่ดินพิพาทตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๑๔ ส่วนผู้ซื้อที่ดินพิพาทคือจำเลยที่ ๓โดยจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ แต่เนื่องจากคู่สัญญาต่างเป็นนิติบุคคลจึงต้องแสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วยเพื่อตรวจสอบอำนาจของกรรมการของนิติบุคคลนั้น และคู่สัญญาต้องส่งรายงานการประชุมของนิติบุคคลดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบเจตนาและวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาด้วยในการดำเนินการครั้งนั้นบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด โดยจำเลยที่ ๑ ได้ส่งรายงานการประชุมของบริษัทตามเอกสารหมาย จ.๑๑ และ จ.๑๒ ต่อพยาน ส่วนจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ได้ส่งรายงานการประชุมของบริษัทตามเอกสารหมายจ.๑๓ ต่อพยาน นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ยังได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานผู้สอบสวนสิทธิและนิติกรรมตามแบบ ท.ด.๑ ว่า บริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัดกับจำเลยที่ ๓ ได้ตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคา ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ซื้อได้ชำระราคาและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานได้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวไว้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.๑๕ พยานจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่ารายงานการประชุมตามเอกสารหมาย จ.๑๑ ถึง จ.๑๓ เป็นเอกสารเท็จ และไม่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ให้ถ้อยคำดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานในการซื้อขาย โดยประการที่ทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทพระรามเก้าก่อสร้าง จำกัด ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามฟ้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานนี้ชอบแล้ว
ข้อที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานยักยอกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียว แต่ไม่ได้แก้โทษที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ ๓ รวมสองกระทงเป็นการไม่ถูกต้องนั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๓ มีความผิดฐานยักยอก ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และเห็นว่าความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการเป็นกรรมเดียว แต่เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานยักยอก และเรียงกระทงลงโทษโดยปรับกระทงละ ๖,๐๐๐ บาท รวม ๒ กระทง ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ ในความผิดฐานยักยอกเพียงบทเดียวจึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาแก้โทษของจำเลยที่ ๓ ที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษมา กลับพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ
ปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า สมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจนเป็นที่พอใจและโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ประกอบกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๖ กับให้จำหน่ายคดีโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๔เฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ออกจากสารบบความ ลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐จำคุกคนละ ๒ ปี และปรับคนละ ๔,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ กลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ถ้าจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามมาตรา ๒๙, ๓๐ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ ในความผิดฐานยักยอกเพียงบทเดียว ปรับจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.