แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีความผิดในข้อหาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 แต่คู่ความอุทธรณ์รวมมากับความผิดฐานอื่นที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยข้อหานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ต่อมาได้ เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันต่อมาระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ได้มีพระราชกฤษฎีกา ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ที่ดินพิพาท ทำให้ที่ดินพิพาทไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอีกต่อไปแต่ที่ดินพิพาทก็ยังคงมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอยู่จำเลยซึ่งเข้าบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังคงมีความผิดตามประมวลที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เพราะพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวหาได้บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปไม่ จำเลยจึงไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด แต่เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสองแต่รับโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า
ย่อยาว
คดีหกสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกนายชู ไข่คำ นายสนั่น จันทร์แป้น นายอ้วนหรือเฉวียง กอบอรรถกิจนายวันชัย สายนึก นายโพธิ์ คำสิงห์ และนางนิด ทองอยู่สุขเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, 91และให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของรัฐ
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องอ้างว่าได้มีพระราชกฤษฎีกา ให้เพิกถอนสภาพที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วตามสำเนาเอกสารท้ายคำร้องจำเลยทั้งหกจึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง โจทก์มิได้แถลงเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ2,000 บาท และจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 ยังมีความผิดอีกกระทงหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ลงโทษปรับอีกคนละ 400 บาทรวมลงโทษจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 2,400 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว โทษจำคุกจำเลยทั้งหกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินของรัฐ
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งหกสำนวนฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายศาลฎีกาจึงจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 4 ที่ 6 คนละ 400 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22ที่แก้ไขแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 4 ที่ 6 อุทธรณ์รวมมากับความผิดฐานอื่นที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์ภาค 2รับวินิจฉัยให้ โดยได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ต่อมาได้
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เจ้าพนักงานได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 4 ที่ 6 เพิกเฉย ต่อมาระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลหนองบัวอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. 2533 ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า พระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันดังกล่าวมีผลให้การกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่เป็นความผิดต่อไปหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่ต่อมาระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินพิพาทดังกล่าว ดังนั้น ที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอีกต่อไป นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ แต่ที่ดินพิพาทยังคงมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอยู่ต่อไป หาได้เปลี่ยนแปลงตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ จำเลยทั้งห้าซึ่งบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทยังมีความผิดอยู่แต่เมื่อที่ดินพิพาทมิได้มีสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันต่อไปแล้ว จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่างกันกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่รับโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหาได้บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปไม่จึงไม่มีผลทำให้จำเลยทั้งห้าพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง สำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ500 บาท และจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่ง ปรับคนละ 100 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 4และจำเลยที่ 6 จำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 600 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งห้าให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาท