แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแต่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินพิพาทดังนั้น ที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับแต่ที่ดินพิพาทยังคงมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหาได้เปลี่ยนแปลงตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่จำเลยทั้งหกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จึงยังมีความผิดอยู่ แต่เมื่อที่ดินพิพาทมิได้มีสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่ต้องรับโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหาได้บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดไม่จึงไม่มีผลให้จำเลยทั้งหกพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 การที่นายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินพิพาทดังกล่าวตามกฎหมายมีหนังสือสั่งให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 ออกไปจากที่ดินพิพาทภายในกำหนดจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทราบแล้วเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุและข้อแก้ตัวอันสมควรการกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 6 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา368 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยที่ 4และที่ 6 คนละ 400 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 แต่เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5อุทธรณ์รวมมากับความผิดฐานอื่นที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องทั้งหกสำนวนใจความว่า จำเลยทั้งหกซึ่งมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่างบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้างที่ดินของรัฐบริเวณทุ่งเขาพระตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันด้วยการไถที่ดินและปลูกบ้านพักนายอัมพร วังศพาท์ นายอำเภอหนองบัว ผู้ดูแลที่ดินดังกล่าวมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินดังกล่าวภายในกำหนด จำเลยที่ 4 และที่ 6 ทราบแล้วเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุสมควร เหตุเกิดที่ตำบลหนองบัวอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, 91และให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของรัฐ
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องอ้างว่าได้มีพระราชกฤษฎีกา ให้เพิกถอนสภาพที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วตามสำเนาเอกสารท้ายคำร้องจำเลยทั้งหกจึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง โจทก์มิได้แถลงเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 จำคุกคนละ 2 เดือนและปรับคนละ 2,000 บาท และจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 ยังมีความผิดอีกกระทงหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ลงโทษปรับอีกคนละ400 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 จำคุกคนละ 2 เดือนและปรับคนละ 2,400 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว โทษจำคุกจำเลยทั้งหกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินของรัฐ
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งหกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 4 ที่ 6 คนละ 400 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22แต่เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์รวมมากับความผิดฐานอื่นที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์ภาค 2รับวินิจฉัยให้ โดยได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ต่อมาได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า พระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันดังกล่าวมีผลให้การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดต่อไปหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่ต่อมาระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินพิพาทดังกล่าว ดังนั้น ที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอีกต่อไป นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ แต่ที่ดินพิพาทยังคงมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอยู่ต่อไป หาได้เปลี่ยนแปลงตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ จำเลยทั้งหกซึ่งบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทยังมีความผิดอยู่แต่เมื่อที่ดินพิพาทมิได้มีสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันต่อไปแล้ว จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่รับโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหาได้บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปไม่จึงไม่มีผลให้จำเลยทั้งหกพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง สำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน การที่นายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินดังกล่าวตามกฎหมายมีหนังสือสั่งให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 ออกไปจากที่ดินพิพาทภายในกำหนด จำเลยที่ 4และที่ 6 ทราบแล้วเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุและข้อแก้ตัวอันสมควร การกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 6 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ดังที่โจทก์ฟ้อง
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน ที่จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อพ.ศ. 2492 ทางราชการดำเนินการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องคัดค้าน ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 26(พ.ศ. 2515) (ที่ถูก พ.ศ. 2516) การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต้องรอไว้จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ แต่ทางราชการมิได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงดังกล่าว การที่นายอำเภอหนองบัวสั่งให้จำเลยทั้งหกออกจากที่ดินพิพาทและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งหกจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกในข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ซึ่งทางราชการมีหลักฐานการขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นคนละเรื่องกับกรณีการดำเนินการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2516)ดังที่จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหก
ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาและเหตุแห่งคดีเดียวกัน ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2033-2034/2533 จึงเป็นฟ้องซ้อนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในทางนำสืบของจำเลย และหลักฐานในสำนวนเกี่ยวกับคดีดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 กล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ500 บาท และจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่ง ปรับคนละ 100 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 จำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 600 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งหกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งหกรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาท