คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเช่าทรัพย์อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะเช่าทรัพย์ หากจำเลยจะอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายพิเศษก็ต้องยกขึ้นต่อสู้ไว้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 บัญญัติให้จำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยไม่ได้อ้างสิทธิความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517อันเป็นกฎหมายพิเศษขึ้นต่อสู้คดี จำเลยจึงยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ และที่ศาลชั้นต้นหยิบยกพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โดยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ขึ้นวินิจฉัย จึงไม่ชอบ เมื่อจำเลยค้างชำระค่าเช่านาพิพาทรวม 2 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกการเช่า ฟ้องขับไล่เรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 ตำบลวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ (อำเภอปากน้ำโพ) จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ. 2519จำเลยได้เช่าทำนามีระยะเวลาการเช่า 6 ปี โดยเสียค่าเช่าในปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2523 ปีละ 6,000 บาท และปี พ.ศ. 2524เสียค่าเช่า 8,000 บาท จำเลยชำระค่าเช่าให้โจทก์ถึงปี พ.ศ. 2522แล้วผิดนัดไม่ชำระ โจทก์จึงร้องเรียนต่อนายอำเภอเมืองนครสวรรค์จำเลยยอมรับว่า ค้างค่าเช่าโจทก์ในปี พ.ศ. 2523 เป็นเงิน 6,000 บาทขอผ่อนชำระให้โจทก์พร้อมค่าเช่าในปี พ.ศ. 2524 รวมเป็นเงิน14,000 บาท โดยจะชำระให้เมื่อสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว คือ ประมาณเดือนมีนาคม 2525 และจำเลยขอทำนาต่ออีกปีเดียว ครบกำหนดจำเลยไม่ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและยังค้างชำระค่าเช่าในปี พ.ศ. 2525อีก 8,000 บาท โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าและให้จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเช่านาปี พ.ศ. 2523 ถึงปี พ.ศ. 2525 รวมเป็นเงิน 22,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 14,000 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2525เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้อง แต่ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนายสงวน ศรีวรรณ สามีจำเลย เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางเขียวศรีวรรณ มารดานายสงวน นางเขียวนำไปขายฝากแก่นางแรม เงินเพ็ชรต่อมานางเขียวถึงแก่กรรม นางแรมฟ้องขับไล่จำเลยและนายสงวนออกจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 385/2518 ของศาลชั้นต้นคดีตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ โดยนางแรมยอมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยและนายสงวนในราคา 60,000 บาท จำเลยและนายสงวนไม่มีเงิน ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ 60,000 บาท โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยและจำเลยจะจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์เป็นประกันเงินกู้ แต่โจทก์ไม่ยอม จะให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยไม่มีทางเลี่ยง หากไม่ยอมตามที่โจทก์เรียกร้อง จำเลยและนายสงวนก็ต้องผิดสัญญากับนางแรม จึงตกลงจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการอำพรางนิติกรรมจำนอง โจทก์ยอมให้จำเลยผ่อนชำระเป็นรายปี ปีละ 6,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เมื่อจำเลยชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะโอนที่ดินพิพาทคืนให้จำเลย โจทก์มีชื่อในโฉนดในฐานะตัวแทนจำเลยและนายสงวนจำเลยไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยติดค้างหนี้เงินกู้ที่จะต้องผ่อนชำระให้แก่โจทก์ในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาปี พ.ศ. 2524โจทก์ขู่บังคับให้จำเลยและนายสงวนไปทำบันทึกเปรียบเทียบต่อนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่านาในปีพ.ศ. 2523 และปี พ.ศ. 2524 รวมเป็นเงิน 14,000 บาท มิฉะนั้นโจทก์จะเอาที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ บันทึกเปรียบเทียบดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 ตำบลวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ (อำเภอปากน้ำโพ) จังหวัดนครสวรรค์ ของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงิน 22,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 14,000 บาทนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 8,000 บาท นับแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เดิมเป็นของนายต่วน นางเขียว ศรีวรรณ ในปี พ.ศ. 2503นางเขียวได้ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่นายจำเนียร เจริญศรีในราคา 6,700 บาท กำหนดไถ่ถอนคืนภายใน 6 เดือน ในปี พ.ศ. 2505นายจำเนียรได้ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่นางแรม เงินเพ็ชรในราคา 18,900 บาท กำหนดไถ่ถอนคืนภายใน 2 ปี ในปี พ.ศ. 2517นางแรมเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและนายสงวนสามีของจำเลยออกจากที่ดินพิพาท คดีตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้โดยนางแรมยอมให้จำเลยซื้อที่ดินพิพาทคืนจากนางแรมในราคา60,000 บาท ต่อมาปี พ.ศ. 2519 นางแรมขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองในราคา 60,000 บาทปรากฏตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1สำเนาสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1, 2 สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 385/2518 ของศาลชั้นต้น และสำเนาสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.5 จำเลยฎีกาประการแรกว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะปรากฏจากการนำสืบของจำเลยว่า หลังจากนางเขียวมารดาของจำเลยได้ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่นายจำเนียรและหลังจากครบกำหนดไถ่ถอนคืนแล้ว จำเลยได้ขอยืมเงินจากนางแรมไปไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากนายจำเนียร โดยนางแรมให้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่นางแรม แล้วนางแรมหลบหน้าไม่ยอมให้จำเลยไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจนครบกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนนางแรมได้ฟ้องขับไล่จำเลยและนายสงวนสามีของจำเลยออกจากที่ดินพิพาท ในที่สุดตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยนางแรมยอมให้จำเลยและนายสงวนซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา60,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งแสดงว่าจำเลยยังต้องการซื้อที่ดินพิพาทอันเป็นของบิดามารดาแต่เดิมกลับคืนมาก็ตามแต่ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ยืมเงินนายดีสามีของโจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นพี่ของนายสงวนจำนวนเงิน 60,000 บาท โดยนายดีไม่คิดดอกเบี้ยไปซื้อที่ดินพิพาทคืนจากนางแรมและใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยนายดีตกลงให้จำเลยผ่อนชำระภายใน 10 ปี ปีละ 6,000 บาท และเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้นายดีครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งสองจะโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลย ซึ่งหากเป็นจริงจำเลยและนายสงวนก็น่าจะให้นายดีทำหลักฐานข้อตกลงดังกล่าวให้จำเลยและนายสงวนยึดถือไว้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันมิให้นายดีและโจทก์ทั้งสองบิดพลิ้วไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในภายหลัง แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ ทั้งโจทก์ทั้งสองก็นำสืบปฏิเสธในเรื่องนี้ และศาลฎีกาไม่เชื่อว่า นายดีแม้จะเป็นพี่ของนายสงวนสามีจำเลยจะยอมให้จำเลยยืมเงินถึง 60,000 บาทและยอมให้ผ่อนชำระ 10 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย ยิ่งกว่านี้จำเลยยังให้การต่อนายเสน่ห์ ปั้นสุขสวัสดิ์ปลัดอำเภอเมืองนครสวรรค์ผู้ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ให้ดำเนินการในเรื่องที่โจทก์ไปร้องเรียนเรื่องจำเลยค้างชำระค่าเช่านาที่ดินพิพาทโดยรับว่าค้างชำระค่าเช่าใน ปี พ.ศ. 2523 และปี พ.ศ. 2524 รวมเป็นเงิน 14,000 บาทจะชำระให้เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมีนาคม 2525และขอทำนาต่ออีกปีเดียวจริง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งโจทก์มีนายเสน่ห์มาเบิกความยืนยันประกอบว่า เป็นผู้เปรียบเทียบจนคู่กรณีตกลงยินยอมกันโดยโจทก์ที่ 2 มิได้ขู่บังคับจำเลย และนายเสน่ห์มิได้ขู่เข็ญฝ่ายใด นายเสน่ห์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ถือได้ว่าเป็นคนกลาง คำเบิกความของนายเสน่ห์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยเบิกความว่า ได้พิมพ์ลายมือชื่อในบันทึกเปรียบเทียบโดยไม่ทราบข้อความจึงรับฟังไม่ได้ พยานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยและนายสงวนสามีของจำเลยขอร้องให้โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากนางแรม แล้วจำเลยได้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองทำนาต่อไป หาใช่นายดีพี่นายสงวนซื้อที่ดินพิพาทจากนางแรม และใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยสัญญาว่าเมื่อจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้นายดีครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งสองจะโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยดังที่จำเลยนำสืบไม่ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า นายเสนห์ ปั้นสุขสวัสดิ์ ไม่ใช่กรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอเมืองนครสวรรค์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บหรือการชำระค่าเช่านา ตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว มาตรา 9(2) ศาลฎีกาเห็นว่า การเช่าทรัพย์อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะเช่าทรัพย์หากจำเลยจะอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายพิเศษก็ต้องยกขึ้นต่อสู้คดีไว้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177บัญญัติให้จำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นเมื่อตามคำให้การของจำเลยไม่ได้อ้างสิทธิหรือความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 อันเป็นกฎหมายพิเศษขึ้นต่อสู้คดี จำเลยจะยกกฎหมายพิเศษดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2522 โดยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นจึงไม่ชอบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยค้างชำระค่าเช่านาที่ดินพิพาทรวม 2 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกการเช่า ฟ้องขับไล่เรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share