แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุรถชนกันอันเป็นมูลกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1ขับรถประมาทกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่เกิดเหตุชนไว้กับจำเลยที่ 2 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 140,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และ 37,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “บริษัทประกันภัยจำเลยที่ 3 ฎีกาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโจทก์ต่อมาอีกว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นแต่เพียงบริษัทผู้รับประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าขณะเกิดเหตุรถชนกันอันเป็นมูลกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถประมาทกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้น จำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่เกิดเหตุชนไว้กับจำเลยที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนไว้ให้ร่วมรับผิดในค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์ได้”
พิพากษายืน