แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์หรือไม่นั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ทั้งสองได้ ไม่ปรากฏว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยสั่งพักงานโจทก์ก็เพราะโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งอีกทั้งกำหนดโทษตามข้อบังคับนี้ถึงขั้นให้ออกจากงานแต่จำเลยเพียงสั่งให้พักงานมีกำหนด ระยะเวลาแน่นอนคือ 1เดือน แสดงว่าเมื่อครบกำหนดเวลาพักงานถ้าหากโจทก์ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น จำเลยก็อาจจะจ้างโจทก์ทั้งสองทำงานต่อไปอีก แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเสียก่อนพฤติการณ์เช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 1 เดือน โดยไม่มีความผิด นับเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ นอกจากนี้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินโบนัส
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้างาน จึงได้ลงโทษสั่งพักงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยสั่งพักงานโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดข้อบังคับการทำงาน จำเลยมีอำนาจลงโทษได้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจะไม่จ้างโจทก์ทำงานต่อไปหรือกลั่นแกล้งโจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง จำเลย จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ส่วนเงินโบนัสจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งไว้ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยยอมจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งมีความเห็นแย้ง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ทั้งสองเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์หรือไม่นั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ทั้งสองได้ ไม่ปรากฏว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
กรณีของโจทก์ถ้าหากไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจำเลยก็คงไม่สั่งพักงานซึ่งถือได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง อีกทั้งกำหนดโทษตามข้อบังคับนี้ถึงขั้นให้ออกจากงาน แต่จำเลยเพียงสั่งให้พักงาน และการพักงานนั้นมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนคือ 1 เดือน ดังนี้ ย่อมแสดงว่าเมื่อครบกำหนดเวลาพักงานถ้าหากโจทก์ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น จำเลยก็อาจจะจ้างโจทก์ทำงานต่อไปอีก แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเสียก่อน พฤติการณ์เช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2521 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
พิพากษายืน