คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914-917/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้รับขนเป็นผู้เสียหายฟ้องฐานละเมิด โดยเหตุสินค้าที่รับขนถูกรถชนเสียหายได้
ฟ้องว่าขับรถโดยประมาท ขับกินทางเข้าไปในเส้นทางของรถที่สวนมาเป็นเหตุให้รถชนกัน สินค้าที่บรรทุกมาเสียหายตามประเภทและราคาที่ระบุไม่เคลือบคลุม รายละเอียดเป็นข้อนำสืบชั้นพิจารณา ไม่ต้องบรรยายให้ครบถ้วนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
โจทก์ฟ้องรวมกันมาภายใน 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ศาลสั่งให้โจทก์แต่ละคนแยกฟ้องภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดวันเสาร์ โจทก์ฟ้องในวันจันทร์ ถือว่าฟ้องภายใน 15 วัน แม้เกิน 1 ปี ตั้งแต่วันทำละเมิดก็ไม่ใช่ขยายอายุความ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่ละสำนวนตามจำนวนที่ระบุ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนค่าเสียหายบางจำนวนจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาในเบื้องต้นว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำนวนนี้เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ทุกสำนวนบรรยายฟ้องมีสารสำคัญว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายสวาท ลอยครบุรี ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาท ขับกินทางเข้าไปในเส้นทางของรถที่สวนมา เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 3 ซึ่งมีนายวานหรือวารีหรือเสรี เข็มทองหรือต่ายมูล เป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย เป็นค่าสินค้าที่บรรทุกมาเสียหายตามประเภทและราคาที่ระบุไว้กับค่าเสียหายเป็นค่าจ้างลากรถของโจทก์ที่ 3เข้าอู่ ค่าซ่อม ค่าผ้าใบ ค่ายางรถยนต์ ค่าเสื่อมราคา และค่าขาดรายได้เป็นรายวันจากการรับจ้างบรรทุกสินค้า ทุกรายการตามจำนวนเงินที่ระบุกับเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งโดยสารมาในรถโจทก์ที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายส่วนต่าง ๆ ตามที่ระบุต้องเสียค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดรายได้ระหว่างรักษาพยาบาลตามจำนวนวันและจำนวนเงินที่ระบุไว้เช่นกัน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้เห็นว่าเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว หาจำต้องบรรยายให้ครบถ้วนถึงการกระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ไม่ ส่วนรายละเอียดสำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับสินค้าที่เสียหายแต่ละอย่างมีจำนวนและราคาเท่าใด รถของโจทก์เสียหายส่วนใด สภาพก่อนและหลังซ่อมเป็นอย่างไร เหตุใดจึงเสื่อมราคากับค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายเป็นเงินอย่างละเท่าใดนั้นเป็นข้อที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณา แม้ไม่บรรยายมาก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ทั้งสี่สำนวนนี้ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า เหตุแห่งการละเมิดคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519 โจทก์ทั้งสี่นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2520 แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีรวมกันมาเป็นคดีเดียวคือคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 84/2520 ของศาลชั้นต้นและศษลชั้นต้นสั่งให้แยกฟ้องคดีแต่ละสำนวนใหม่ภายในกำหนด 15 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2520 โจทก์ที่ 3 ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2520 โจทก์ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2520 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการ ถือได้ว่าได้ยื่นฟ้องในกำหนดตามคำสั่งศาลแล้ว ดังนี้เห็นว่าเมื่อโจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นฟ้อง ภายในกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 แล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่และโจทก์ได้ฟ้องภายในกำหนดที่ศาลสั่ง จึงหาใช่เป็นการขยายอายุความอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 ไม่ คดีโจทก์ทั้งสี่สำนวนไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของสินค้าที่เสียหาย แม้ได้ใช้ราคาไปแล้ว ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิของเจ้าของสินค้ามาเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้นั้น เห็นว่าตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 3 รับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 ประกอบกิจการรับขนส่งเป็นการค้าโดยปกติ โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ฉะนั้นในกรณีที่ลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 โดยตรง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิด โจทก์ที่ 3 ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ แม้มิใช่เป็นการรับช่วงสิทธิก็ตาม และที่โจทก์ที่ 3 เบิกความว่า โจทก์ที่ 3 มีกิจการขนส่งโดยเปิดห้างหุ้นส่วนจำกัด มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ด้วยโดยโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการดังจำเลยฎีกา ก็ไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ที่ 3 มิใช่ผู้รับขนสินค้าตามฟ้องไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป”

พิพากษายืน

Share