คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของคณะบุคคลซึ่งมีเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ตลอดทั้งเสียภาษีในชื่อของคณะบุคคลนั้นจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว โดยไม่มีการแบ่งแยก เมื่อรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง เจ้าพนักงานประเมินเมื่อได้จัดการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 แล้ว ย่อมมีอำนาจทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินเรียกเก็บภาษีเพิ่มไปยังโจทก์ตามมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากรทั้งนี้โดยโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาตรา 56 วรรคสอง
การที่ มาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติให้หุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคล ร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระด้วย ไม่ทำให้หน้าที่และความรับผิดของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เจ้าพนักงานประเมินหาจำต้องเรียกให้หุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลมาร่วมรับผิดกับโจทก์ไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า โจทก์ นางบุญนาค ตั้งตระกูลอดุลย์และนางปุย สันติบาล ได้เข้าหุ้นส่วนกันขายที่ดิน โดยขอจดทะเบียนการค้าใช้ชื่อว่าคณะบุคคลไตรมิตร มีนายบุญเพ็ชร วิชาธร สามีโจทก์เป็นผู้จัดการการค้า รวมทั้งการเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 สามีโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 เจ้าหน้าที่พบว่า คณะบุคคลไตรมิตรเสียภาษีไม่ถูกต้อง ได้เรียกโจทก์ไปไต่สวน ปรากฏว่าคณะบุคคลดังกล่าวเสียภาษีไม่ถูกต้องในปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2519 กรมสรรพากรจำเลยที่ 1 โดยสรรพากร จังหวัดยโสธร จำเลยที่ 2 สั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ของคณะบุคคลนั้นเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2519 รวม 52,645 บาท87 สตางค์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นประธานได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากโจทก์ ถูกต้องชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 8 หรือไม่ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา 56 วรรคสอง (ที่แก้ไขแล้ว) ได้บัญญัติถึงในกรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกินกว่า 6,000 บาท ไว้มีสาระสำคัญดังนี้คือ ประการแรกให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในกำหนดเวลาและตามแบบเช่นเดียวกับวรรคก่อนประการที่ 2 การเสียภาษีเช่นนี้ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการรับผิดเสียภาษีในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก และประการสุดท้าย แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระ ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย ดังนี้ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติดังกล่าวข้างต้น โจทก์เป็นบุคคลในคณะบุคคลไตรมิตรที่มิใช่บุคคลและมีเงินได้พึงประเมิน โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงในข้อนี้และปรากฏว่า เดิมสามีโจทก์เป็นผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของคณะบุคคลนั้น ครั้นสามีโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ทำหน้าที่สืบต่อจากสามี เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของคณะบุคคลดังกล่าวแล้ว จึงมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินตลอดทั้งเสียภาษีในชื่อของคณะบุคคลนั้นจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก และถ้าคณะบุคคลมีภาษีค้างชำระ โจทก์ในฐานะบุคคลในคณะบุคคลนั้น ยังต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระตามมาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งกำหนดหน้าที่และความรับผิดของโจทก์ไว้อีกด้วยฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารายงานเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงสำหรับปี พ.ศ. 2516-2519 เจ้าพนักงานประเมินเมื่อได้จัดการตามมาตรา 19 แล้ว ย่อมมีอำนาจทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินเรียกเก็บภาษีเพิ่มไปยังโจทก์ในฐานะผู้อำนวยการหรือผู้จัดการหรือในฐานะบุคคลนั้นซึ่งเป็นผู้ต้องเสียภาษรีอากรได้ตามมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้โดยโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดตามมาตรา 56 วรรคสองนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการ เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีเพิ่มแก่โจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดเป็นผู้ต้องเสียภาษีอากรดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นการที่มาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติให้หุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลร่วมรับผิดในเงินภาษี ที่ค้างชำระด้วย ก็ไม่ทำให้หน้าที่และความรับผิดของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เจ้าพนักงานประเมินจึงหาจำต้องเรียกให้หุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่ก็ตาม มาร่วมรับผิดดังฎีกาโจทก์ไม่ ดังได้วินิจฉัยมา การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากโจทก์ จึงชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง”

พิพากษายืน

Share