คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อักษรโรมันคำว่า “WELLCOME” เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือมีความหมายว่าอย่างไร และโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำว่า “WELLCOME”เป็นนามสกุลของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ในอดีตและบริษัทโจทก์ตั้งขึ้นเมื่อปี 2423นอกจากโจทก์จะใช้คำว่า “WELLCOME” เป็นเครื่องหมายการค้าแล้ว โจทก์ยังใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อบริษัทโจทก์ด้วย โจทก์เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยใช้เครื่องหมายคำว่า “WELLCOME” มาตั้งแต่ก่อนปี 2444 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”WELLCOME” ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2450 และที่ประเทศไทยเมื่อปี 2490 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่าWELLCOME ไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย ในขณะที่จำเลยอ้างว่า ว.ผู้ก่อตั้งห้างเวลล์คัม ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นผู้คิดชื่อ WELLCOME โดยครั้งแรกตั้งชื่อคำว่า “WELCOME” แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนเพราะเป็นคำสามัญทั่วไป แปลว่า ต้อนรับ จึงต้องเพิ่มอักษร L เข้าไปอีก 1 ตัว แต่จำเลยเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ WELLCOME SUPERMARKET เมื่อปี 2488 อันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “WELLCOME” หลายสิบปีด้วยแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่า ว.จะได้คิดค้นคำดังกล่าวขึ้นมาเองและเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยบังเอิญเช่นนั้น แต่น่าเชื่อว่าเป็นการนำเอาคำว่า “WELLCOME”มาจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แล้วนำคำว่า SUPERMARKET มาประกอบเพื่อให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้ว่าจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า “SUPERMARKET” ประกอบกับคำว่า”WELLCOME” และจำเลยขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 ได้แก่ สินค้าเบ็ดเตล็ด อันเป็นสินค้าต่างจำพวกและไม่มีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องหรือสัมพันธ์กันกับสินค้าจำพวกที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 48 ซึ่งเป็นสินค้ายารักษาโรคมนุษย์ เคมีภัณฑ์และเครื่องสำอางของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “WELLCOME”ก็ตาม แต่ก็ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์ได้โฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “WELLCOME” หลายชนิดและแจกสินค้าตัวอย่าง เช่นกระเป๋า ถุงพลาสติก สุมดบันทึก และกระเป๋าสตางค์อันเป็นสินค้าเบ็ดเตล็ดในจำพวกที่ 50 ตามวิสัญญีสารและแผ่นปลิวโฆษณาอันถือได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 50 แล้ว การใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “WELLCOME” SUPERMARKET” ของจำเลยกับสินค้าจำพวกที่ 50จึงอาจทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนเมื่อเห็นแต่คำว่า”WELLCOME” ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้ การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”WELLCOME SUPERMARKET” ของจำเลยมีลักษณะคล้ายคลึงหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “WELLCOME” ของโจทก์ เมื่อคำว่า “WELLCOME”เป็นนามสกุลของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของและได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยหลายสิบปี โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายคำว่า “WELLCOME” และคำว่า “WELLCOME SUPERMARKET”ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 206656 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 ของจำเลยดีกว่าจำเลย และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวได้ตามมาตรา 41(1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยใช้หรือยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “WELLCOME” สำหรับสินค้าทุกจำพวก รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้นั้นชอบแล้ว เพราะโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50จึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนและห้ามผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าจำพวกดังกล่าวได้ดังเช่นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 27 และ 29 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท

Share