แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา26วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองเนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดโดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็ต้องเป็นไปตามนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2186, 19839ถึง 19842, 55384 และ 86630 ถึง 86634 ตำบลบางซื่อ(บางเขนฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่รวม 1,036 ตารางวา วันที่ 15 เมษายน 2535 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมือง-นนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตห้วยขวางเขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเขตเวนคืนจำนวน 430 ตารางวา วันที่ 6 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทนที่ดิน 21,650,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายกันในท้องตลาดและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพราะที่ดินของโจทก์ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่อยู่ติดถนนรัชดาภิเษกถมดินแล้วทุกแปลงเป็นแหล่งชุมชนใช้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ราคาซื้อขายกันในท้องตลาดขณะเวนคืนไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 220,000 บาทเนื้อที่ 430 ตารางวา เป็นเงิน 94,600,000 บาท โจทก์วางโครงการเพื่อก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ใช้เป็นสำนักงานและศูนย์การค้าจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 40,000,000 บาท แต่เมื่อมีการเวนคืนที่ดินและก่อสร้างทางพิเศษแล้วทำให้ขวางกั้นหน้าที่ดินของโจทก์โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงทำให้โจทก์ขาดผลประโยชน์จากกำไรที่จะได้รับขอคิดค่าขาดผลประโยชน์ของกำไรเป็นเงิน 20,000,000 บาทโจทก์ยื่นอุทธรณ์ค่าทดแทน แต่จำเลยที่ 3 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 92,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,600,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯประกาศกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยถือตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ที่ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เนื่องจากเป็นราคาที่ทำการประเมินขึ้นใหม่เป็นรายแปลง โดยการสอบถามข้อมูลราคาจากเจ้าของที่ดิน จากธนาคารพาณิชย์ตลอดจนราคาซื้อขายในท้องตลาดย้อนหลังไป 3 ปี มาพิจารณาหาค่าเฉลี่ยเป็นราคากลางหลักเกณฑ์คล้ายกับมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงกำหนดค่าทดแทนซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินทั้ง 11 แปลงมีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ถึงตารางวาละ 220,000 บาท โจทก์ยื่นคำอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3ขอให้เพิ่มค่าทดแทนเพียงตารางวาละ 150,000 บาทเท่านั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย หากจะเรียกได้ก็ไม่เกินร้อยละ6.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 15,630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2186, 19839 ถึง 19842, 55384 และ 86630 ถึง 86634ตำบลบางซื่อ (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืน โดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวีเขตห้วยขวาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตบางคอแหลมเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 รวมเนื้อที่ 430 ตารางวาคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นหลักในการกำหนดค่าทดแทนและประกาศกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์รวมเป็นเงิน 21,650,000 บาท โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2536 ต่อมาโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก27,220,000 บาท โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2537 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 เป็นเงิน2,768,609.58 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นอีก15,630,000 บาท เป็นธรรมหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาสรุปว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 120,000 บาท ยกเว้นที่ดินโฉนดเลขที่ 2186ไม่กำหนดเพิ่มให้ โดยนำราคาซื้อขายที่ดินในท้องตลาด สภาพทำเลที่ดินของปีที่ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา มาพิจารณาประกอบอันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สวนที่ดินโฉนดเลขที่ 2186 มีสภาพเป็นถนนซอยไม่มีค่าในตัวเองจึงกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 15,000,000 บาท ราคาค่าทดแทนดังกล่าวเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์โดยนำค่าทดแทนที่ดินของนางจันทนา อัสนีวุฒิกรนายสมชาย ชัยวัฒนธรรม และนายสมพงษ์ ชัยวัฒนธรรม มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสาม นั้น เห็นว่า ขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตบางซื่อ พ.ศ. 2533 มีผลใช้บังคับ แม้ที่ดินของโจทก์และที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์จะไม่มีอาคารพาณิชย์และสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นก็ตาม แต่ที่ดินของโจทก์ก็อยู่ห่างที่ดินของนางจันทนา นายสมชาย และนายสมพงษ์ เพียงไม่เกิน 200 เมตรและอยู่ติดกับถนนรัชดาภิเษกเช่นเดียวกันนับได้ว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในย่านที่สามารถพัฒนาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เช่นเดียวกันราคาที่ดินของโจทก์จึงไม่ควรแตกต่างกับราคาที่ดินของนางจันทนานายสมชาย และนายสมพงษ์มากนัก สำหรับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2186แม้ตามรูปแผนที่หลังโฉนดจะมีลักษณะเป็นถนนแต่ที่ดินแปลงดังกล่าวก็ติดกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้มิได้ถูกจำกัดให้ใช้เป็นถนนอย่างเดียว จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของนางจันทนา นายสมชาย และนายสมพงษ์ ตารางวาละ20,000 บาท ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 150,000 บาท เท่ากันทุกแปลง เพิ่มขึ้นอีก15,630,000 บาท ย่อมเป็นธรรมแล้ว
จำเลยทั้งสามฎีกาประการต่อมาว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่มีการจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มคือวันที่ 6 มกราคม 2536โดยโจทก์มิได้นำสืบว่าดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในวันดังกล่าวมีอัตราสูงสุดเท่าไร เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น
พิพากษายืน