แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินทั้งสองแปลงที่ยึดมาขายทอดตลาดมีราคาประเมินรวมทั้งสองแปลงแล้วไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่มีราคาน้อยก่อน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะกำหนดลำดับการขายทรัพย์ที่ยึดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309(3) การขายที่ดินแปลงนี้เป็นการปฏิบัติโดยชอบแล้ว และเมื่อขายทรัพย์รายแรกได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินอีกแปลงหนึ่งเป็นอันดับต่อมา แม้การขายทรัพย์สินรายการหลังจะได้เงินพอแก่การชำระหนี้ก็ไม่ทำให้การขายทอดตลาดทรัพย์รายการแรกที่เสร็จไปแล้วโดยชอบนั้นเสียไปหรือถูกยกเลิกไป จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 5148 และ 258 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษา ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้ประมูลได้ในราคาสูงสุด แปลงแรกราคา 2,900,000 บาท แปลงที่สองราคา 17,050,000 บาท จำเลยที่ 3ยื่นคำร้องว่า ราคาที่ขายดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงโดยแปลงแรกจะขายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท แปลงที่สองไม่ต่ำกว่า 25,000,000บาท ผู้เข้าประมูลมีแต่ผู้แทนโจทก์กับผู้ให้ราคาสูงสุดประมูลสู้ราคากัน มีพฤติการณ์ร่วมกันกดราคาเป็นการไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้แล้วให้ทำการขายทอดตลาดใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนฎีกาฉบับหลังที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและขายทอดตลาดใหม่นั้น ข้อเท็จจริงในสำนวนฟังเป็นยุติว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2522 ที่ดิน 2 รายการ คือ โฉนดเลขที่ 5148และ 258 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 ได้จำนองเป็นประกันหนี้โจทก์จำนวน 3,500,000 บาท ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2532 ทรัพย์สินดังกล่าวได้ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ซึ่งรวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน15,000,000 บาทเศษ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินราคาทรัพย์สินในขณะยึดไว้คือทรัพย์สินรายการแรกประเมินราคา 950,000 บาทรายการหลังประเมินราคา 3,174,000 บาท และต่อมาเมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2532 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวมีผู้เข้าสู้ราคา 3 ราย บริษัทดิออฟบิช จำกัด เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวได้ทั้ง 2 รายการ โดยรายการแรกทำการประมูลก่อนให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 2,900,000 บาท รายการที่ 2ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 17,050,000 บาท ปัญหาวินิจฉัยมีว่าการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่…
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อต่อไปว่า หนี้ที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาคดีนี้มีเพียง 15,000,000 บาทเศษ เท่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ควรขายที่ดินทั้ง 2 แปลงเพราะขายเฉพาะที่ดินแปลงหลังก็ได้เงินถึง17,000,000 บาทเศษ เพียงพอแก่การชำระหนี้แล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่ดินทั้งสองแปลงที่ยึดดังกล่าวเมื่อพิจารณาถึงราคาประเมินรวมทั้งสองแปลงแล้วจะเห็นว่ามีราคาไม่พอแก่การชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่มีราคาน้อยก่อนคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5148 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะกำหนดลำดับการขายทรัพย์ที่ยึดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา309(3) การขายที่ดินแปลงนี้เป็นการปฏิบัติโดยชอบแล้ว และเมื่อขายทรัพย์รายแรกดังกล่าวได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 258 เป็นอันดับต่อมาแม้การขายทรัพย์สินรายการหลังจะได้เงินพอแก่การชำระหนี้ก็ไม่ทำให้การขายทอดตลาดทรัพย์รายการแรกที่เสร็จไปแล้วโดยชอบนั้นเสียไปหรือถูกยกเลิกไป ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ไปโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน