คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่ไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบกระทั่งถึงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่เจ้าพนักงานผู้จับได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา 226 โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตามกฎหมายเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 606,000 เม็ด น้ำหนัก 57,175.480 กรัม มีปริมาณเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 16,656.789 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.10817/2544 ของศาลอาญา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 แถลงรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสอง), 66 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง เมื่อศาลลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้วก็ไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ ย.10817/2544 ของศาลอาญาได้ ให้ยกคำขอนี้เสีย ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา พันตำรวจตรีสมศักดิ์ วังแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนกับพวกร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ไปตรวจค้นบ้านทาวน์เฮาส์ เลขที่ 42/28 และเลขที่ 42/31 หมู่บ้านปิยะพงษ์วิลเลจ หมู่ที่ 2 แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านที่เกิดเหตุคดีนี้และจับกุมจำเลยทั้งสองซึ่งพักอาศัยอยู่บ้านที่เกิดเหตุดังกล่าวมาดำเนินคดีนี้ โดยอ้างว่าตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนรวมจำนวน 606,000 เม็ดได้จากบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวเป็นของกลาง พนักงานสอบสวนส่งยาเสพติดให้โทษของกลางดังกล่าวไปให้ผู้ชำนาญการพิเศษ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ชนิดเมทแอมเฟตามีน มีปริมาณเมทแอมเฟตามีน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 16,656.789 กรัม ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของตำรวจตรีสมศักดิ์ และดาบตำรวจมนัส โหสุวรรณ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองประจักษ์พยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน พยานทั้งสองกับพวกจับกุมนายหยางหรือดนตรี หมื่นจินา ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 40,000 เม็ด กับเฮโรอีนอัดแท่งอีกจำนวนหนึ่งในท้องที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และจากการสอบสวนขยายผลนายหยางให้การซัดทอดว่า นายหยางได้ร่วมกับนายธรรมะหรือเสริฐ ธรารักษ์ จำเลยที่ 1 คดีนี้และนายเนตรไม่ทราบชื่อสกุล มีเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้นายหยางยังให้การอีกว่า ยังมีเมทแอมเฟตามีนนอีกจำนวนหนึ่งซุกซ่อนอยู่ที่บ้านเลขที่ 42/28 และบ้านเลขที่ 42/31 ในหมู่บ้านปิยะพงษ์วิลเลจ แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานครอีกด้วย พยานทั้งสองกับพวกจึงนำนายหยางไปที่หมู่บ้านดังกล่าว และนายหยางได้ชี้บ้านดังกล่าวทั้งสองหลัง ซึ่งเป็นบ้านแบบทาวน์เฮาส์ปลูกอยู่แถวเดียวกันโดยมีบ้านอื่นคั่นอยู่ 2 หลัง ในพยานทั้งสองกับพวกดูว่าเป็นบ้านที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน แต่ขณะนั้นเป็นเวลามืดแล้ว พยานทั้งสองกับพวกจึงไม่ได้เข้าไปตรวจค้นและจากการสืบสวนต่อมาพยานทั้งสองทราบจากสายลับว่า จำเลยที่ 1 จะพักอยู่ที่การเคหะรามอินทรากิโลเมตรที่ 4 กนนรามอินทรา เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร เป็นส่วนใหญ่ วันเกิดเหตุพันตำรวจตรีสมศักดิ์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปเฝ้าดูพฤติการณ์ของบุคคลในบ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง และให้ร้อยตำรวจเอกเสน่ห์ มณีฉาย ไปขอหมายค้นจากศาลอาญา ส่วนพยานทั้งสองพร้อมด้วยสายลับได้เดินทางไปที่การเคหะรามอินทรากิโลเมตรที่ 4 เพื่อตามหาจำเลยที่ 1 ต่อมาเวลา 17.30 นาฬิกา พยานทั้งสองพบชายคนหนึ่งเดินอยู่กลางซอยในการเคหะรามอินทราดังกล่าว สายลับได้ชี้ให้ดูและบอกว่าชายคนดังกล่าวคือนายธรรมะ จำเลยที่ 1 พยานทั้งสองจึงแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอดูบัตรประจำตัวประชาชนของชายคนดังกล่าวปรากฏว่าชายคนดังกล่าวเป็นนายธรรมะหรือเสริฐ ธรารักษ์ จำเลยที่ 1 คดีนี้จริง พยานทั้งสองจึงนำจำเลยที่ 1 ขึ้นรถยนต์ไปยังบ้านที่เกิดเหตุในหมู่บ้านปิยะพงษ์วิลเลจ ซึ่งได้มีการสอบถามแล้วจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าบ้านดังกล่าวเป็นบ้านพักของจำเลยที่ 1 จริง พยานทั้งสองกับพวกแสดงหมายค้นของศาลอาญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เพื่อขอตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง ผลการตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/28 พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 มัด (มัดละ 2,000 เม็ด) มีกระดาษกาวสีน้ำตาลมัดห่อไว้วางอยู่บนเตียงนอนภายในห้องนอนชั้นบนซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าเป็นห้องนอนของจำเลยที่ 1 เมื่อแกะห่อกระดาษออกตรวจนับแล้ว ปรากฏว่ามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10,000 เม็ด จากนั้นพยานทั้งสองกับพวกได้เข้าไปตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 ซึ่งอยู่ถัดไป ผลการตรวจค้นพยานทั้งสองพบเมทแอมเฟตามีน (จำนวน 1 มัด) ซุกซ่อนอยู่ใต้บันไดบ้านชั้นล่างแล้วพยานทั้งสองกับพวกขึ้นไปตรวจค้นชั้นบนพบจำเลยที่ 2 นั่งยองๆ อยู่ที่ชั้นบน และตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่ง (จำนวน 5 มัด) อยู่บนฝ้าเพดานซึ่งมีรอยนิ้วมือติดอยู่ที่ขอบเปิดฝ้ากับพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่ง (จำนวน 295 มัด) ในห้องน้ำที่อยู่ใต้ฝ้าดังกล่าวด้วย รวมเมทแอมเฟตามีนของกลางที่พบที่บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง มีจำนวนทั้งสิ้น 606,000 เม็ด หลังจากตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว พยานทั้งสองกับพวกได้สอบถามจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 บอกว่านายเนตรจะเป็นผู้ดำเนินการเอาเมทแอมเฟตามีนจากท่าอากาศยานกรุงเทพแล้วเอามาเก็บไว้ที่บ้านที่เกิดเหตุสองหลังนี้ซึ่งเป็นบ้านที่นายเนตรเช่าไว้โดยให้จำเลยที่ 1 เฝ้าดูแลบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/28 และให้จำเลยที่ 2 เฝ้าดูแลบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 หลังจากนั้นจึงจะเอาเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนนี้ไปส่งให้แก่ลูกค้าเพื่อจำหน่ายต่อไป ชั้นจับกุมพยานทั้งสองกับพวกแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุม เอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองต่างก็เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติภารกิจไปตามอำนาจหน้าที่ และไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า พยานทั้งสองจะสมคบกันมาเบิกความหรือสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นมาปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษในคดีอุกฉกรรจ์เช่นนี้ นอกจากนี้ศาลฎีกายังได้ตรวจดูคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้โดยถ้วนถี่แล้ว ก็ปรากฏว่าพยานทั้งสองเบิกความได้สอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญเป็นอย่างดีและมีเหตุผลติดต่อเชื่อมโยงกันมาเป็นลำดับ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและไร้ข้อพิรุธที่จะชี้ให้เห็นว่ามีการวางแผนกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสอง เชื่อได้ว่าพยานทั้งสองเบิกความไปตามความสัตย์จริงตามเหตุการณ์ที่พยานทั้งสองรู้เห็น โดยมิได้ปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นมาปรักปรำจำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่า เป็นเพราะจำเลยทั้งสองถูกจับกุมได้โดยกะทันหันพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน เป็นของกลางยืนยันความผิดของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยังไม่มีโอกาสหาข้อแก้ตัวได้ทันในขณะนั้น จึงต้องให้การรับสารภาพไปตามความสัตย์จริง แม้จะปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 ให้ยกเลิกความในมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติไว้ว่า “ถ้อยคำใดๆ” ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานแต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี” ตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวในความตอนท้ายซึ่งเป็นข้อยกเว้นของความตอนแรกที่ว่าเป็นถ้อยคำอื่นของคำให้การในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับเมื่อมีการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้แก่ผู้ถูกจับแล้ว ก็สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่วรรคนี้มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่นี้มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่า ขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้วต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.3 มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่ เพราะบันทึกการตรวจค้นและจับกุมฉบับดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับจัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับและโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา 226 ในสำนวนคดีนี้โดยชอบก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับหากจะแปลความบทบัญญัติดังกล่าวว่า ขณะที่ศาลมีคำพิพากษาต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังทุกกรณี ไม่ว่าคำรับสารภาพดังกล่าวจะมีอยู่ก่อนหรือหลังวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ ก็อาจมีผลกระทบกระทั่งต่อสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะได้รับการลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เพราะเหตุที่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยผู้ถูกจับเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อาจทำให้ศาลไม่อาจลดโทษให้แก่จำเลยได้อีก ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ศาลล่างมีคำพิพากษาก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ ให้ลดโทษแก่จำเลยเพราะเหตุที่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่คดีดังกล่าวได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลสูงภายหลังจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หากศาลสูงต้องห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยผู้ถูกจับในขณะที่มีคำพิพากษา คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันจะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษเพื่อลดโทษให้แก่จำเลยได้อีก นอกจากนี้ยังอาจกระทบกระทั่งต่อสิทธิของโจทก์เสมือนหนึ่งว่า พยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ถูกตัดออกไปจากสำนวนโดยที่โจทก์ไม่มีโอกาสได้แก้ไข อันอาจทำให้ความยุติธรรมต้องเสียไปได้ กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่น่าจะมีเจตนารมณ์ให้เกิดผลอันไม่พึงปรารถนาเช่นนั้น ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรมก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบกระทั่งถึงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองที่เจ้าพนักงานผู้จับได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา 226 โดยชอบด้วยกฎหมายในสำนวนคดีนี้ก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.3 มารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตามกฎหมายเดิม ที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่าชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การรับสารภาพ แต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 จึงบอกว่าถ้าจะให้การรับสารภาพ ก็ขอรับว่าจำเลยที่ 1 ที่เมทแอมเฟตามีนจำนวน 10,000 เม็ด (ที่ตรวจค้นพบในบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/28) เท่านั้น เห็นว่า ความในข้อนี้คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 1 เบิกความอ้างลอยๆ และมิได้ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ไว้ การที่จำเลยที่ 1 มาเบิกความข้างเดียวในภายหลังเช่นนี้ ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงได้ และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 1 ให้การับสารภาพในชั้นจับกุมก็เพื่อที่ภริยาจำเลยที่ 1 จะได้ไม่ต้องถูกจับกุมนั้นก็เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา โดยในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบในข้อนี้ไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้เช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ฎีกาโต้เถียงในข้อนี้ว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับสารภาพในบันทึกการตรวจค้นและจับกุมนั้นเป็นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจนำกระดาษหลายแผ่นให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ จำเลยที่ 2 เป็นเด็กชาวไทยใหญ่ไม่รู้หนังสือไม่เข้าใจภาษาไทยประกอบกับมีเจ้าพนักงานตำรวจบางคนขู่เข็ญบังคับให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ตกใจกลัวจึงได้ลงลายมือชื่อไปนั้น เห็นว่า ความในข้อนี้จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเช่นเดียวกันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้นำสืบต่อสู้ไว้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 606,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.3 จริง หากจำเลยทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเช่นนั้น ตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมฉบับดังกล่าวก็ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ โดยพันตำรวจตรีสมศักดิ์พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า พยานอ่านบันทึกการตรวจค้นและจับกุมฉบับดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองฟังเป็นที่เข้าใจดีแล้วจึงให้จำเลยทั้งสองลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นชาวไทยใหญ่แต่ก็ปรากฏว่าในชั้นสืบพยานจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 สามารถเบิกความตอบคำซักถามของทนายจำเลยและคำถามค้านของโจทก์โดยไม่ต้องผ่านล่ามภาษาท้องถิ่นอันเป็นภาษาพูดของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถพูดและฟังภาษาไทยเป็นที่เข้าใจได้ สำหรับบันทึกการตรวจค้นและจับกุมฉบับดังกล่าว ศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วก็ปรากฏว่ามีการระบุถึงพฤติการณ์ในการจับกุมไว้โดยละเอียดสอดคล้องตรงกับที่พยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความข้างต้นทุกประการ รวมทั้งได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าขณะตรวจค้นเจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่อยู่ในบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 มิใช่พบจำเลยที่ 2 อยู่ในบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/28 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง นอกจากนี้ศาลฎีกาได้ตรวจดูหมายค้นศาลอาญา เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นหมายค้นสำหรับตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 แล้ว ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับทราบข้อความในหมายในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับสถานที่ถูกตรวจค้น ตามรูปเรื่องจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยที่ 2 อยู่ในบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 จริงตามที่โจทก์นำสืบ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่บ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/28 ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ในข้อนี้ได้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถเข้าไปตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังซึ่งประตูบ้านปิดใส่กุญแจไว้ได้นั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีสมศักดิ์และดาบตำรวจมนัสพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนเอาลูกกุญแจของประตูบ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังมาไขกุญแจเปิดประตูบ้านทั้งสองหลัง อันเป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลบ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังดังกล่าวซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ และได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีสมศักดิ์และดาบตำรวจมนัสพยานโจทก์อีกว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดที่ตรวจค้นพบจะมีลักษณะการห่อเป็นอย่างเดียวกันกับเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจค้นได้จากนายหยางเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอีกว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของขบวนการผู้ค้ายาเสพติดให้โทษในกลุ่มเดียวกัน แต่มีการแยกสถานที่เก็บซุกซ่อนไว้หลายแห่ง ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากจากบ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำให้การซัดทอดของนายหยางโดยแท้ แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่พันตำรวจตรีสมศักดิ์พยานโจทก์ได้มาจากนายหยางเป็นความจริง แม้นายหยางจะให้การซัดทอดถึงนายเนตรและจำเลยที่ 1 โดยมิได้กล่าวถึงจำเลยที่ 2 ด้วยก็น่าเป็นเพราะจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเพียงเด็กรับใช้ในขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายนี้ ซึ่งนายเนตรนำมาจากจังหวัดเชียงรายให้มาทำหน้าที่เป็นคนเฝ้าดูแลเมทแอมเฟตามีนของกลางที่บ้านที่เกิดเหตุโดยที่จำเลยที่ 2 มิใช่ตัวการสำคัญเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และนายเนตรก็ได้ หาใช่ว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการกระทำความผิดคดีนี้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าในการเข้าไปตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง เจ้าพนักงานตำรวจใช้เครื่องมืองัดประตูเข้าไปโดยไม่มีการนำลูกกุญแจจากจำเลยที่ 1 ไปไขกุญแจประตูนั้น เห็นว่า ความในข้อนี้จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา โดยจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบและถามค้านพยานโจทก์ในข้อนี้ไว้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้และการที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10,000 เม็ดบนเตียงนอนของจำเลยที่ 1 โดยที่เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมิได้ถูกซุกซ่อนไว้ให้มิดชิดนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะนำมาฟังเป็นข้อพิรุธของพยานโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา เพราะจำเลยที่ 1 อาจเกิดความชะล่าใจโดยคิดว่าเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ล่วงรู้ความผิดของตนหรือเป็นความมักง่ายของจำเลยที่ 1 จึงได้ทิ้งเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนดังกล่าวไว้ที่เตียงนอนโดยมิได้ซุกซ่อนให้มิดชิดก็ได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องขอให้ศาลขอแรงทนายมาวางความให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้ว่าจ้างทนายความมาว่าความเองนั้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ค้ายาเสพติดให้โทษจึงเป็นคนยากจนเพราะการที่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินมาว่าจ้างทนายความอาจเป็นเพราะยังไม่สามารถจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางไปได้แต่มาถูกจับกุมเสียก่อนก็ได้ สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจพบว่าอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 นั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีสมศักดิ์และดาบตำรวจมนัสพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กำลังนั่งยองๆ อยู่ที่ชั้นบนของบ้านดังกล่าวโดยมีผ้าห่มหรือหมอนขนาดใหญ่คลุมตัวไว้ในลักษณะซ่อนตัวและจำเลยที่ 2 มีอาการกลัว พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นข้อพิรุธที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เห็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมากในบ้านที่เกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 เฝ้าดูแลอยู่โดยกะทันหันซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยจึงทำให้จำเลยที่ 2 มีอาการเป็นข้อพิรุธเช่นนั้น นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีสมศักดิ์และดาบตำรวจมนัสพยานโจทก์อีกว่า ในบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 นี้ มีก้านธูปมัดเป็นกำใส่กระป๋องวางไว้เป็นหย่อมๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นการจุดธูปเพื่อดับกลิ่นเมทแอมเฟตามีน กับพบกระดาษกาวที่มีลักษณะเป็นการฉีกแกะจากห่อเมทแอมเฟตามีนทิ้งเกลื่อนบ้านด้วย น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนเฝ้าดูแลบ้านดังกล่าวจะต้องมีส่วนร่วมรู้เห็นกับการกระทำเหล่านี้ด้วย สำหรับข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หากจำเลยที่ 2 เฝ้าดูแลบ้านที่เกิดเหตุเลขที่ 42/31 จริง ก็ไม่จำเป็นต้องใส่กุญแจ การปิดประตูใส่กุญแจขังคนไว้ในบ้านย่อมไร้เหตุผลเพราะหากมีอันตรายคนในบ้านจะหาทางออกไม่ได้นั้น เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์ข้อนี้ ไม่เป็นข้อพิรุธที่จะนำมารับฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคนเฝ้าดูแลของกลางในบ้านที่เกิดเหตุดังกล่าว เพราะตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถเปิดประตูออกจากบ้านที่เกิดเหตุดังกล่าวได้ หากจำเลยที่ 2 ถูกขังอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุดังกล่าวจริง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะตัวการใหญ่ที่ค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่รายนี้สามารถกระทำความผิดร้ายแรงเช่นนี้ได้ย่อมจะมีจิตใจที่โหดเหี้ยมผิดจากบุคคลทั่วไป จึงสามารถที่จะขังจำเลยที่ 2 ไว้ในบ้านที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ 2 หักหลังโดยลักลอบนำเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งมีมูลค่ามหาศาลออกไปได้โดยไม่จำต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ยิ่งกว่านั้นศาลฎีกาเห็นว่า การมีเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมากถึง 606,000 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายซึ่งมีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต ตามปกติผู้กระทำความผิดจะต้องปกปิดเป็นความลับอย่างยิ่งและรู้กันเฉพาะในหมู่ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเท่านั้น หากจำเลยทั้งสองมิได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่รายนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บุคคลซึ่งเป็นตัวการใหญ่จะยอมให้จำเลยทั้งสองเข้าไปพักอาศัยอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุดังกล่าว เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจำเลยทั้งสองพบเห็นความผิดและนำไปเปิดเผยได้ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปอยู่ในสถานที่เก็บซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนมากเช่นนี้ จึงเป็นข้อพิรุธของจำเลยทั้งสองอย่างมาก อันเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจะต้องมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับบุคคลที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าชื่อนายเนตรซึ่งเป็นตัวการใหญ่ด้วย สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาต่างๆ ที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างมาในฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนำมาอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 ได้ สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า ตามรูปเรื่องและพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบมานี้มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดจริงตามคำฟ้องดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่สามารถฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น และศาลฎีกาเห็นสมควรกล่าวต่อไปด้วยว่าแม้จะปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสอง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง อันเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่ก็เป็นเรื่องอยู่ในดุลพินิจของศาลว่าสมควรจะลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมากถึง 606,000 เม็ด โดยมีปริมาณเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 16,656.789 กรัม หากเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวถูกจำหน่ายแพร่ระบาดไปในหมู่ประชาชน ย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกนับว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง ซึ่งจะต้องลงโทษในสถานหนักที่สุดเพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหนึ่งผู้ใดเอาเป็นเยี่ยงอย่างและให้ได้รับผลดีในการปราบปราม จึงไม่สมควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่อย่างไรก็ตามสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุมีอายุ 18 ปีเศษเป็นชาวไทยใหญ่ในชนบทห่างไกลที่ยากจนและไร้การศึกษา จึงอ่อนทางความคิด เมื่อคำนึงถึงสภาพของจำเลยที่ 2 ในขณะถูกจับกุมด้วยแล้วน่าเชื่อว่าจะถูกนายเนตรพวกของจำเลยทั้งสองชักจูงให้หลงผิดเข้าร่วมกระทำความผิดนี้ด้วย ควรปรานีลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะมีอายุ 19 ปีเศษ แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและความรู้สึกผิดชอบของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่เห็นสมควรที่จะลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ด้วย
อนึ่ง แม้จะปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และ 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง ต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิพากษาแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 52 (1) แล้ว คงให้จำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share