คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7314/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน…” ดังนี้ หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางจะลดลงก็ได้ แต่ต้องลดเป็นจำนวนพอสมควร และในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นจะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ และนำสืบถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,164,163.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,079,846.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งนักบิน โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 และพนักงานอีกคนหนึ่งไปฝึกอบรมหลักสูตรการบินที่ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 14 ถึง 27 มกราคม 2546 รวม 14 วัน โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ไว้ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กลับมาทำงานต่อระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2547 แล้วจำเลยที่ 1 ลาออก ค่าฝึกอบรมตามฟ้องข้อ 6.1 ไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่ก่อนไปฝึกอบรมต่างประเทศต้องผ่านหลักสูตรดังกล่าว ส่วนค่าเบี้ยเลี้ยงและตั๋วเครื่องบินเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ตามฟ้องข้อ 6.9 และ 6.12 นั้น กำหนดไว้ในสัญญา และโจทก์ได้เฉลี่ยเป็นเจ้าหน้าที่รายบุคคลแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นคู่ความยอมรับว่าเป็นไปตามฟ้อง และจำเลยทั้งสองสละข้อต่อสู้เรื่องไม่ได้ผิดสัญญา ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายที่โจทก์กำหนดกรณีผิดสัญญาอันเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ซึ่งศาลย่อมมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ กรณีจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท และเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ร้อยละ 15 ต่อปี สูงเกินส่วนเช่นกัน จึงเห็นควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยว่าค่าเสียหายของโจทก์เพียงใด ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลปรับลดค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนคดี และการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานและมีคำพิพากษาโดยไม่เปิดโอกาสให้โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน…” ดังนี้ หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางจะลดลงก็ได้ แต่ต้องลดลงเป็นจำนวนพอสมควร และในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นจะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ และนำสืบถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์จำเลยโดยฟังข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหาย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share