คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คอนกรีตผสมเสร็จที่จำเลยนำไปอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ในคดีของศาลแพ่งธนบุรี เป็นสินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์เมื่อวันที่ 12, 16 และ 18 กันยายน 2544 ส่วนคอนกรีตผสมเสร็จที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระราคาในคดีนี้ เป็นสินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์เมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 31 มกราคม 2545 และระหว่างวันที่ 1 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2545 สินค้าที่เป็นมูลเหตุให้ฟ้องร้องกันในคดีทั้งสองจึงเป็นคนละจำนวนกัน แม้ว่าสินค้าที่จำเลยซื้อแต่ละคราวในคดีนี้กับคดีก่อนจะสืบเนื่องมาจากใบเสนอราคาของโจทก์ฉบับเดียวกัน ก็ไม่มีผลทำให้ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าขายคอนกรีตผสมเสร็จมีรถโม่ปูนนำคอนกรีตผสมเสร็จไปส่งให้แก่ลูกค้าตามปริมาณและสถานที่ที่ลูกค้ากำหนด จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ เมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 31 มกราคม 2545 จำเลยซื้อคอนกรีตผสมเสร็จไปจากโจทก์ 16 ครั้ง รวมราคา 322,560 บาท และระหว่างวันที่ 1 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยซื้อคอนกรีตผสมเสร็จไปจากโจทก์อีก 5 ครั้ง รวมราคา 60,360 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยต้องชำระราคาสินค้าภายใน 60 วัน แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าทั้งหมด 382,920 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 382,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เนื่องจากจำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ไว้แล้วตามคดีหมายเลขดำที่ 2640/2545 ของศาลแพ่งธนบุรี ในโครงการหนองงูเหลือม จังหวัดนครปฐม จำเลยตกลงกับโจทก์ว่า คอนกรีตที่โจทก์จะจัดส่งให้แก่จำเลยต้องรับน้ำหนักได้ 240 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร รวม 550 คิว เป็นเงิน 660,000 บาท แต่ปรากฏภายหลังว่าคอนกรีตที่โจทก์เทพื้นให้แก่จำเลยรับน้ำหนักได้เพียง 108.24 ถึง 172.03 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ทำให้จำเลยต้องหยุดการก่อสร้าง และต้องว่าจ้างผู้อื่นเทพื้นคอนกรีตใหม่ จำเลยได้รับความเสียหาย จึงได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นคดีดังกล่าว คอนกรีตผสมเสร็จที่โจทก์อ้างว่าจำเลยสั่งซื้อตามฟ้องเป็นสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและไม่ได้มาตรฐาน โจทก์ไม่มีหลักฐานการซื้อขายมาแสดง จำเลยไม่เคยได้รับเอกสารการแจ้งบิลค่าเสียหายหรือหนังสือทวงถามจากโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความเสียหายของโจทก์มีไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 382,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 7,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 2640/2545 ของศาลแพ่งธนบุรีหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น จะต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว คดีนี้จำเลยไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า คอนกรีตผสมเสร็จที่จำเลยนำไปอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 2640/2545 ของศาลแพ่งธนบุรี เป็นสินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์เมื่อวัน 12, 16 และ 18 กันยายน 2544 ส่วนคอนกรีตผสมเสร็จที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระราคาในคดีนี้ เป็นสินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์เมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 31 มกราคม 2545 และระหว่างวันที่ 1 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ สินค้าที่เป็นมูลเหตุให้ฟ้องร้องกันในคดีทั้งสองจึงเป็นคนละจำนวนกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็เป็นคนละเรื่องกันแม้ว่าสินค้าที่จำเลยซื้อแต่ละคราวในคดีนี้กับคดีก่อนจะสืบเนื่องมาจากใบเสนอราคาของโจทก์ฉบับเดียวกันดังจำเลยฎีกาหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองเป็นอย่างเดียวกันไปได้ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share