แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมไม่ได้อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปให้บุคคลดังกล่าวเช่าโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2541 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับนายเที่ยวหรือไข่หรือไข่เที่ยวหรือไข่เที่ยงจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2715/2541 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 572, 8052, 8053 ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ของบริษัทระนองธานี จำกัด ผู้เสียหายและแบ่งพื้นที่บางส่วนของที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยเพื่อให้ผู้อื่นเช่าวางแผงลอยเพื่อขายสินค้าชั่วคราวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย อันเป็นการถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวบางส่วนและเป็นการรบกวนครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข เหตุเกิดที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทระนองธานี จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 1 ปี และปรับ 7,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 572, 8052, 8053 ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทระนองธานี จำกัด โจทก์ร่วมตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.12 นายวสันต์เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.11 ระหว่างวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องมีพ่อค้าแม่ค้าหลายสิบรายเข้าไปตั้งแผงลอยขายสินค้าราคาถูกบนที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์ร่วมตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและรูปถ่ายที่เกิดเหตุพร้อมคำอธิบายเอกสารหมาย จ.1 จ.3 และจ.4 ระหว่างเกิดเหตุนางพนิดาผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินของโจทก์ร่วมพบว่ามีผู้บุกรุกนำเต๊นท์มากางและมีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าดังกล่าวนำสินค้ามาวางขายในบริเวณที่ดินของโจทก์ร่วมโดยเฉพาะส่วนที่เป็นถนนคอนกรีตทางเข้าโรงแรมรอแยลปริ๊ลเซส นางพนิดาแจ้งกลุ่มพ่อค้าเหล่านั้นให้รื้อถอนเต๊นท์และขนสินค้าออกไป แต่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นไม่ปฏิบัติตาม จึงรายงานให้นายวสันต์ทราบ ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2541 นายวสันต์มอบอำนาจให้นางพนิดาไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทเทเวศร์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนอง ให้ดำเนินคดีแก่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นรวมทั้งจำเลยและนายเที่ยวหรือไข่หรือไข่เที่ยวหรือไข่เที่ยงซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2715/2541 ของศาลชั้นต้น ซึ่งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอ้างว่าเป็นผู้อนุญาตให้เข้าไปตั้งเต๊นท์ขายสินค้า พันตำรวจโทเทเวศร์จึงให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจไปกับนางพนิดาเพื่อเชิญกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ามาเจรจากันที่สถานีตำรวจ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่มาร่วมเจรจาคือนายไพจิตร นายราชศักดิ์ และนายบุญพารวมทั้งนายสมชายซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าด้วย นายสมชายตกลงว่าจะติดตามจำเลยมาเจรจาในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อถึงวันนัดมีนางพนิดามาที่สถานีตำรวจเพียงคนเดียว นางพนิดาจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายไพจิตร นายราชศักดิ์และนายบุญพาในข้อหาบุกรุก ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2541 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมตัวนายไพจิตร นายราชศักดิ์ และนางสมจิตต์มามอบให้พันตำรวจโทเทเวศร์สอบสวน พันตำรวจโทเทเวศร์แจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้งสามว่าร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน บุคคลทั้งสามให้การรับสารภาพ พันตำรวจโทเทเวศร์บันทึกคำให้การไว้ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.25 จ.24 และ จ.21 แล้วสอบสวนต่อมาจนทราบว่าจำเลยและนายเที่ยวเกี่ยวข้องด้วย เจ้าพนักงานตำรวจจับนายเที่ยวได้ ส่วนจำเลยเข้ามอบตัว พันตำรวจโทเทเวศร์แจ้งข้อหาแก่จำเลยและนายเที่ยวว่าร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน จำเลยให้การปฏิเสธตามบันทึกรับมอบตัวผู้ต้องหาและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสาร จ.26 และ จ.27 ส่วนนายเที่ยวให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.7 แต่ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายเที่ยว คดีถึงที่สุดแล้ว ทั้งพันตำรวจโทเทเวศร์ยังสอบคำให้การของนางพนิดา นายเกษม สายเอียด นางสุวดีและนายสมชายไว้ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.16 จ.17 จ.22 และ จ.28 ตามลำดับ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นฎีกาว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยอ้างในฎีกาสรุปทำนองว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนคอนกรีตที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมให้แก่ผู้ซื้ออาคารพาณิชย์ของตนจำเลยไม่มีเจตนาบุกรุก โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย และโจทก์ร่วมเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนนั้น เมื่อได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมมีประจักษ์พยานคือนายบุญช่วย นายเที่ยวมาเบิกความถึงข้อเท็จจริงส่วนที่ยังไม่ยุติ โดยนายบุญช่วยเบิกความว่า พยานมอบให้นายสมชายไปติดต่อขอเช่าสถานที่ขายสินค้าราคาถูกที่ตลาดระนองธานี นายสมชายไปสอบถามคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างและได้รับคำแนะนำให้ไปพบกับนายเที่ยว ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้ดูแลสถานที่ นายสมชายจึงไปพบนายเที่ยวแล้วนายเที่ยวพานายสมชายไปพูดคุยกับจำเลย จำเลยอนุญาตให้เช่าสถานที่ตามแนวถนนและข้างถนนบริเวณปากทางเข้าตลาดระนองธานีจากคิวรถจักรยานยนต์ถึงร้านขายข้าวเลือดหมูซึ่งตั้งร้านขายของได้ประมาณ 30 ร้าน จำเลยคิดค่าเช่าระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2541 ในราคาเหมาเป็นเงิน 20,000 บาท ก่อนเริ่มเช่าประมาณ 1 สัปดาห์ พยานกับนายสมชายไปพบจำเลยที่บ้านพักของจำเลยโดยนำเงินจำนวน 10,000 บาท มาชำระให้แก่จำเลย พยานไม่ได้ถามถึงสิทธิหรือเอกสารสิทธิของจำเลยเนื่องจากตามปกติจะไม่ขอดูกัน หลังจากตกลงและวางเงินค่าเช่าครึ่งหนึ่งแล้วพยานก็ทำแผนผังร้านค้ารวม 30 ร้าน และติดต่อพ่อค้าแม่ค้ามาขาย ในวันที่ตกลงกันจำเลยรับปากว่าก่อนวันงานจะไปจัดพื้นที่ให้ แต่ไม่มีการทำสัญญากัน พยานสอบถามจำเลยถึงสถานที่เช่าแล้วจำเลยบอกว่าเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยเป็นผู้ดูแล พยานจึงตกลงเช่าและนายเที่ยวเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุนายบุญช่วยมาติดต่อจำเลยที่สำนักงานทนายความของจำเลยว่าจะจัดงานขายสินค้าราคาถูกที่บริเวณถนนทางเข้าโรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส จำเลยกับพยานได้พานายบุญช่วยไปพบนายเทพสิทธิ์ ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงแรม นายเทพสิทธิ์อนุญาตให้จัดในส่วนของทางเข้าโรงแรม โดยอนุญาตด้วยวาจา หลังจากตกลงนายบุญช่วยได้ชำระเงินมัดจำแก่จำเลยจำนวน 10,000 บาท จำเลยมอบเงินบางส่วนให้พยานไปปรับพื้นที่และตั้งเต๊นท์ นายบุญช่วยเป็นผู้จัดหาเต๊นท์และจัดหาพ่อค้าแม่ค้า เมื่อผู้ใดประสงค์จะมาขายสินค้า นายบุญช่วยจะมาแจ้งพยานแล้วพยานจะไปปรึกษาจำเลย เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความได้อย่างสอดคล้องต้องกันยืนยันถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่เข้ามาเกี่ยวข้องจัดการหาผลประโยชน์จากการเอาสถานที่เกิดเหตุของโจทก์ร่วมออกให้เช่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักรับฟังได้เพราะหากจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นและแสดงออกทั้งโดยตรงและโดยปริยายว่าตนมีอำนาจเอาพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุออกให้เช่าได้จริงแล้ว ก็เชื่อว่านายบุญช่วยคงไม่ยอมตกลงเช่าและยอมจ่ายเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่จำเลยเป็นแน่ ซึ่งเหตุผลที่นายบุญช่วยเชื่อว่าจำเลยมีอำนาจให้เช่าได้นั้นปรากฏจากคำเบิกความของนายบุญช่วยตอบทนายจำเลยถามค้านสอดคล้องกับคำเบิกความของนายเที่ยวว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2541 พยานกับนายเที่ยวไปหาจำเลยที่สำนักงาน จำเลยบอกพยานว่าสนิทสนมกับนายเทพสิทธ์ ผู้จัดการโรงแรมรอยัลปริ๊นเซส จำเลยรับปากว่าจะไปติดต่อให้ หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน พยานก็มาพบจำเลยอีก จำเลยบอกติดต่อกับนายเทพสิทธิ์แล้ว ตกลงให้เช่าบริเวณทางเข้าโรงแรม พยานจึงตกลงวางเงินค่าเช่า คำเบิกความดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่าการติดต่อกับนายเที่ยวเพียงลำพังย่อมไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นายบุญช่วยได้ หากไม่มีจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องแม้นายเที่ยวจะอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดและถูกดำเนินคดีร่วมกับจำเลยแต่คำเบิกความของนายเที่ยวก็เป็นคำเบิกความอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง ไม่ได้มีเนื้อหาเป็นการซัดทอดจำเลย จึงรับฟังประกอบคำเบิกความของนายบุญช่วยได้ เห็นว่า นายบุญช่วยไม่เคยรู้จักหรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ส่วนนายเที่ยวก็รู้จักสนิมสนมกับจำเลยมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย คำเบิกความของนายบุญช่วยและนายเที่ยวจึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ที่จำเลยนำสืบสรุปทำนองว่า เมื่อปี 2538 โจทก์ร่วมโดยนายวสันต์ว่าจ้างจำเลยให้แก้ปัญหาเรื่องภาษีอากรซึ่งโจทก์ร่วมค้างชำระแก่กรมสรรพากรประมาณ 38,000,0000 บาท โดยจำเลยจะได้ค่าจ้างอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมไม่ต้องเสียภาษีอากร จำเลยตกลงซื้อตึกแถวของโจทก์ร่วมโดยใช้เงินค่าจ้างที่จะได้รับ ต่อมาจำเลยสามารถทำให้โจทก์ร่วมเสียภาษีอากรเพียง 5,000,000 บาท โจทก์ร่วมขอผ่อนชำระภาษีอากรเป็นงวด แต่เจ้าพนักงานผู้เก็บภาษีอากรแจ้งให้นายวสันต์ไปให้ปากคำด้วยตนเอง จนกระทั่งวันที่ 21 ตุลาคม 2540 กรมสรรพากรได้ยึดกิจการของโจทก์ร่วมรวมทั้งตึกแถวของจำเลยซึ่งใช้เป็นสำนักงานทนายความด้วย หลังจากถูกยึดผู้ที่ซื้อตึกแถวจากโจทก์ร่วมและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระได้รวมตัวกันมาปรึกษาและให้จำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วม ทำให้นายวสันต์โกรธเคืองจำเลยนั้น เห็นว่า เลื่อยลอยและปราศจากเหตุผลเพราะหากข้ออ้างของจำเลยมีมูลความจริง จำเลยน่าจะเป็นฝ่ายโกรธเคืองนายวสันต์เสียมากกว่าข้ออ้างเรื่องสาเหตุโกรธเคืองจึงไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง นอกจากข้ออ้างที่กล่าวแล้วจำเลยยังนำสืบดังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยต่อมาเจือสมกับพยานโจทก์ร่วมอีกว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2541 นายเที่ยวพานายบุญช่วยมาพบเพื่อให้จำเลยช่วยหาที่จัดขายสินค้าราคาถูกเป็นการชั่วคราวประมาณ 10 วัน จำเลยจึงไปเจรจากับนายเทพสิทธิ์ นายเทพสิทธิ์อนุญาต แต่เมื่อสำรวจที่ดินบริเวณที่ได้รับอนุญาตปรากฏว่ามีกองดินและเสาไฟฟ้าวางอยู่ จึงตกลงให้นายบุญช่วยออกเงินค่าขนย้าย นายบุญช่วยจึงจ่ายเงินค่าขนย้ายให้แก่นายเที่ยว เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยนอกจากจะไปเจือสมกับพยานโจทก์และโจทก์ร่วมแล้วยังสนับสนุนให้เห็นอีกด้วยว่าจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการเช่าที่ดินที่ถูกบุกรุกมาตั้งแต่แรก เมื่อที่ดินบริเวณที่ถูกบุกรุกเป็นของโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมไม่ได้อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่จำเลยนำที่ดินของโจทก์ร่วมไปให้ผู้อื่นเช่าโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยย่อมมีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน