คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2783/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาจ้างทำของ ซื้อขายและผิดสัญญารับสภาพหนี้ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้จ้างให้โจทก์ทำการซ่อมตู้เย็นเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งในตู้ห้องเย็นตลอดจนเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับตู้เย็นด้วย รวมการซ่อมแซมทั้งสิ้น 155ครั้ง ซึ่งตู้เย็นดังกล่าวนั้นติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกทั้งหมด 32 คันที่จำเลยซื้อมาจากบริษัทส.และบริษัทส. ได้ซื้อตู้ห้องเย็นมาจากโจทก์ โจทก์ได้ทำการซ่อมให้กับจำเลยตรงตามวัตถุประสงค์จนครบถ้วนตามใบสั่งซ่อมแล้วดังนี้โจทก์ได้บรรยายถึงมูลหนี้เรื่องจ้างทำของคือ จำเลยส่งรถบรรทุกห้องเย็นมาให้โจทก์ซ่อมเครื่องทำความเย็นจำนวน 155 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 817,905.87 บาทส่วนจะเป็นค่าอะไหล่อะไร เครื่องทำความเย็นของรถหมายเลขเท่าไรค่าซ่อมจำนวนเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วแม้ภายหลังโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องโดยตัดคำว่า ค่าแรงงานในคำฟ้องเดิมออก คงเรียกร้องแต่ค่าอะไหล่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ทำให้คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยขอให้โจทก์ส่งใบสั่งซ่อมไปให้จำเลย เพราะว่าจำเลยต้องการเอกสารดังกล่าวไปประกอบการตรวจสอบหนี้ค่าซ่อมเครื่องทำความเย็นระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อตรวจสอบแล้วหากพบว่ามีหลักฐานการสั่งซ่อมถูกต้องแล้วจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์การกระทำดังกล่าวแม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 โจทก์ฟ้องเรียกค่าอะไหล่ที่โจทก์ได้เปลี่ยนซ่อมให้จำเลย ถือได้ว่าโจทก์เป็นช่างฝีมือเรียกเอาค่าทำของจากจำเลย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(1) จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่ากำลังตรวจสอบเอกสารต่าง ๆหากตรวจสอบเสร็จแล้วจะดำเนินการชำระหนี้ให้โจทก์ หนังสือดังกล่าวนอกจากจะถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้แล้ว ยังเป็นการไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ในหนี้ส่วนที่ขาดอายุความ ถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความในหนี้ส่วนนั้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 มกราคม2523 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2524 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมตู้เย็น เครื่องปรับอากาศในตู้ห้องเย็น ตลอดจนเครื่องยนต์ของห้องเย็นซึ่งติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกยี่ห้อวอลโว่ 32 คัน รวมการซ่อมแซมทั้งสิ้น 155 ครั้ง เป็นเงินค่าอะไหล่ 791,504 บาท โจทก์ได้ทำการซ่อมให้จำเลยตามที่จำเลยว่าจ้างแล้ว และได้แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ค่าอะไหล่ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยยังไม่ชำระให้และขอผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2525 และวันที่ 30กรกฎาคม 2525 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์รับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงและต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2527 จำเลยได้ทำความตกลงกับโจทก์เรื่องการชำระหนี้ค่าอะไหล่ที่ค้างชำระดังกล่าวโดยจำเลยขอให้โจทก์ส่งต้นฉบับใบสั่งซ่อมไปให้จำเลย เพื่อจำเลยจะได้นำไปเป็นหลักฐานในการขออนุมัติจ่ายเงินให้ ซึ่งโจทก์ได้ส่งต้นฉบับใบสั่งซ่อมไปให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า มูลคดีนี้เป็นเรื่องจ้างทำของโจทก์มาฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่เมื่องานจ้างแล้วเสร็จแต่ละงวด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ หนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4ไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ แต่เป็นหนังสือติดต่อเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาติดตั้งเครื่องจักรทำความเย็น ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง ส่วนหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ก็มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ เป็นเพียงหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่ากำลังตรวจสอบใบเสร็จต่าง ๆ เมื่อตรวจสอบเสร็จและเป็นหนี้ถูกต้องแล้ว จึงจะดำเนินการชำระเงินให้ จำเลยไม่เคยตกลงเรื่องการชำระหนี้ค่าซ่อมค่าอะไหล่กับโจทก์เลย จำเลยไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัย ตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามที่โจทก์อ้าง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ปรากฏวัน เดือน ปี และรายละเอียดว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าซ่อมและค่าอะไหล่นั้น โจทก์ได้ขายอะไหล่อะไรบ้างและซ่อมห้องเย็นบนรถยนต์หมายเลขทะเบียนอะไร ซ่อมอะไรบ้าง และคิดเป็นค่าซ่อมจำนวนเท่าใดในแต่ละรายการ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2521 จำเลยได้ซื้อรถบรรทุกห้องเย็นยี่ห้อวอลโว่จากบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด จำนวน 32 คัน ต่อมาเดือนมกราคม2522 บริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด ได้ซื้อเครื่องทำความเย็นจากโจทก์จำนวน 37 เครื่อง เพื่อติดตั้งบนรถบรรทุกห้องเย็นทั้ง 32คัน ตามสัญญาบริการและรับประกันเครื่องทำความเย็น โจทก์มีหน้าที่ให้บริการและรับประกันเครื่องทำความเย็นเป็นเวลา 24 เดือน แต่ไม่เกินวันที่ 14 สิงหาคม 2524 ระหว่างอายุสัญญาประกันจำเลยได้ส่งรถคันดังกล่าวไปให้โจทก์ตรวจซ่อมตามสัญญาบริการและรับประกันดังกล่าว โจทก์ได้ตรวจซ่อมเครื่องทำความเย็นจำนวน 155 ครั้งเป็นเงินค่าอะไหล่ 791,504 บาท ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยมีหนังสือแจ้งว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบิลต่าง ๆ เมื่อตรวจสอบแล้วจะชำระเงินให้โจทก์ภายหลัง มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาจ้างทำของ ซื้อขายและผิดสัญญารับสภาพหนี้โดยบรรยายฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2523 ถึงวันที่6 ตุลาคม 2524 จำเลยได้จ้างให้โจทก์ทำการซ่อมตู้เย็นเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งในตู้ห้องเย็นตลอดจนเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับตู้เย็นด้วย รวมการซ่อมทั้งสิ้น 155 ครั้งซึ่งตู้เย็นดังกล่าวนั้นติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกทั้งหมด 32 คัน โจทก์ได้ทำการซ่อมให้กับจำเลยตรงตามวัตถุประสงค์จนครบถ้วนตามใบสั่งซ่อมแล้ว โจทก์ได้บรรยายถึงมูลหนี้เรื่องจ้างทำของคือ จำเลยส่งรถบรรทุกห้องเย็นมาให้โจทก์ซ่อมเครื่องทำความเย็นจำนวน 155 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 817,905.87 บาทส่วนจะเป็นค่าอะไหล่อะไร เครื่องทำความเย็นของรถหมายเลขเท่าไรค่าซ่อมจำนวนเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้ภายหลังโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องโดยตัดคำว่า “ค่าแรงงาน”ในคำฟ้องเดิมออก คงเรียกร้องแต่ค่าอะไหล่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ทำให้คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ปัญหาข้อสองมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าอะไหล่ตามฟ้องหรือไม่ ในเรื่องนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเพียงแต่นำรถบรรทุกห้องเย็นไปรับบริการจากโจทก์ 48 ครั้ง ตามสัญญาบริการและรับประกันที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ แก่โจทก์ แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่า จำเลยส่งรถบรรทุกห้องเย็นไปรับบริการจากโจทก์จำนวนกี่ครั้งกลับนำสืบทำนองว่าโจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยภายหลังเวลาที่อ้างว่ามีการซ่อมเป็นเวลาประมาณ 2 ปี จำเลยจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ใบแจ้งหนี้บางฉบับไม่น่าเชื่อว่ามีการซ่อมแซมจริง ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์นอกจากจะมีพยานบุคคลมาเบิกความแล้ว โจทก์ยังส่งใบสั่งตรวจซ่อมเอกสารหมาย 7/1 ถึง 7/32 รวมประมาณ 100 ฉบับโดยมีนายรังสรรค์ รสานนท์ นางสาวอุบล ดิษฐแย้มนายธรณินทร์ วีระวัฒน์ นายสมนึก ทวีศักดิ์ และนายไชยภูมิ ไทยชน เป็นผู้ลงชื่อในใบสั่งตรวจซ่อม ซึ่งทางนำสืบของจำเลยก็ยอมรับว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย นอกจากนี้โจทก์มีนายพีระ ทองตัน ช่างเครื่องยนต์ของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า บางครั้งจำเลยนำรถมาให้ซ่อมโดยไม่ออกใบสั่งตรวจซ่อมก็มีประกอบกับในระหว่างโจทก์ทวงถามหนี้รายนี้ จำเลยไม่เคยโต้แย้งว่ามิได้ส่งรถบรรทุกห้องเย็นให้โจทก์ซ่อม คงแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.11 ว่า จำเลยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตรวจสอบบิลต่าง ๆ จำนวน 152 ฉบับ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วจึงจะดำเนินการชำระเงินให้โจทก์ต่อไปดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยได้สั่งให้โจทก์ทำการตรวจซ่อมรถบรรทุกห้องเย็นจำนวน 155 ครั้ง ตามฟ้อง มิใช่เพียง 48 ครั้ง ตามคำให้การจำเลย กับโจทก์ได้ทำการตรวจซ่อมให้จำเลยแล้วตามรายการในเอกสารหมาย จ.7/1 ถึง จ.7/32 ตามสัญญาบริการและรับประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ข้อ 3 ระบุว่า การรับประกันจะรับประกันต่อข้อบกพร่องจากผู้ผลิตซึ่งสามารถแสดงให้เห็นและพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในข้อนี้ทางนำสืบของจำเลยไม่ได้ความชัดว่าชิ้นส่วนที่โจทก์ซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ชำรุดเพราะความบกพร่องของผู้ผลิต ที่จำเลยนำสืบว่าชิ้นส่วนบางอย่างเพิ่งใช้ได้ไม่กี่เดือน โจทก์ก็เปลี่ยนใหม่ให้นั้นก็มิได้แสดงว่าเป็นความบกพร่องของผู้ผลิต เพราะกรณีอาจเกิดจากการใช้งานหนักหรือใช้ผิดวิธีก็เป็นได้ เมื่อไม่ได้ความว่าชิ้นส่วนเครื่องทำความเย็นชำรุดเพราะความบกพร่องของผู้ผลิตจำเลยจึงต้องเป็นผู้รับผิดชำระค่าอะไหล่เปลี่ยนชิ้นส่วนดังกล่าว
มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข7 (จ.11) เป็นหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ และเมื่อวันที่ 31 มกราคม2527 จำเลยได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่าโจทก์มีพยานคือ นายปราโมทย์ ณ นคร ผู้รับมอบอำนาจเบิกความว่าโจทก์ได้เริ่มส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระหนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม2524 จนถึงเดือนธันวาคม 2524 ในใบแจ้งหนี้ได้ระบุค่าอะไหล่และยอดเงินที่ค้างชำระ และกำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ จำเลยไม่ชำระ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปอีกต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกำลังตรวจสอบหลักฐานเมื่อดำเนินการแล้วก็จะชำระเงินให้โจทก์ ภายหลังโจทก์ส่งต้นฉบับใบสั่งซ่อมให้จำเลยเพื่อให้จำเลยตรวจสอบได้นายบุญเรือน ตระกูลดิษฐ์หัวหน้าพนักงานเก็บเงินและควบคุมหนี้สินพยานโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อทวงถามหนี้สินจากจำเลยเบิกความว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้แล้วจำนวนหนี้ตามใบแจ้งหนี้นั้นฝ่ายจำเลยไม่เคยโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง เหตุที่ไม่ชำระและมีการผัดผ่อนเรื่อยมานั้นอ้างว่ายังไม่มีเงินส่วนหนี้สินรายอื่น ๆ จำเลยชำระให้โจทก์มาโดยตลอด จำเลยรับว่าได้มีหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 (จ.11) ไปถึงโจทก์จริง ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่าตามหนังสือที่อ้างถึงขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าอะไหล่รถยนต์ห้องเย็นเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 804,668 บาท ให้เป็นการเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มกราคม 2525 นั้น ขณะนี้จำเลยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบเร่งรัดการตรวจสอบบิลต่าง ๆ จำนวน 152 ฉบับ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วจึงจะดำเนินการชำระเงินให้โจทก์ต่อไป ซึ่งข้อความดังกล่าวนี้จำเลยมิได้ปฏิเสธหนี้โธทก์ เพียงแต่ขอตรวจสอบหลักฐานก่อน ข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงเป็นการรับสภาพหนี้ นายบุญเรือนเบิกความยืนยันว่า มีการเจรจาตกลงกันโดยจำเลยรับว่าจะจ่ายให้แต่ขอให้โจทก์นำใบสั่งตรวจซ่อมไปให้จำเลยทำการตรวจสอบก่อน พยานได้แจ้งให้นายเจียรผู้จัดการฝ่ายบัญชีของโจทก์จัดส่งเอกสารใบสั่งซ่อมไปให้ตามความต้องการของจำเลยซึ่งระบุรายละเอียดของใบสั่งซ่อมแนบท้ายไว้ด้วย พยานเป็นผู้ไปส่งให้กับนายยินดี ศรีอุ่นเรือนพนักงานของจำเลย หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 31 มกราคม 2527 ตามเอกสารหมาย จ.12 การที่จำเลยขอให้โจทก์ส่งใบสั่งซ่อมไปให้เพื่อจำเลยจะได้ตรวจสอบดำเนินการต่อไปนั้น แสดงว่าจำเลยต้องการเอกสารดังกล่าวไปประกอบการตรวจสอบหนี้ค่าซ่อมเครื่องทำความเย็นระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อตรวจสอบแล้วหากพบว่ามีหลักฐานการสั่งซ่อมถูกต้องแล้วจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ การกระทำดังกล่าวแม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอะไหล่ที่โจทก์ได้เปลี่ยนซ่อมให้จำเลยถือว่าโจทก์เป็นช่างฝีมือเรียกเอาค่าทำของจากจำเลยสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)สำหรับหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 การที่จำเลยมีหนังสือเอกสารหมาย จ.11 แจ้งว่ากำลังตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ หากตรวจสอบเสร็จแล้วจะดำเนินการชำระหนี้ให้โจทก์นั้นนอกจากจะถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้แล้ว ยังเป็นการไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ในหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 ถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความในหนี้ส่วนนี้แล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์อีก ส่วนหนี้ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2523 จำเลยได้ทำการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2525 และวันที่31 มกราคม 2527 ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2529 จึงยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน

Share