แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ภ. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง แม้ขณะนั้น ส. ยังมิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้เป็นผู้ฟ้องคดีแทนก็หาใช่เป็นเรื่องที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้อันจะตกเป็นโมฆะไม่ ผลคงมีเพียงว่า ภ. ยังไม่อาจฟ้องคดีแทนโจทก์โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ทำกันไว้ในขณะนั้นได้เท่านั้นต่อมาเมื่อ ส. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีอำนาจฟ้องคดีแทนแล้วก็มิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือทำหนังสือมอบอำนาจช่วงขึ้นใหม่หนังสือมอบอำนาจจึงสมบูรณ์ มีผลทำให้ ภ. มีอำนาจแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ ส. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นต้นไป
ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคสอง (5) ห้ามมิให้ตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปฟ้องคดีแทนตัวการในกรณีที่การมอบอำนาจมิได้ระบุให้ตัวแทนฟ้องคดีแทนตัวการได้เท่านั้นแต่ข้อความในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ โดยให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่บุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ ที่กระทำการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ รวมทั้งให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้เป็นตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์โดยตรงอยู่แล้ว และไม่จำต้องระบุไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าให้ฟ้องจำเลยที่ 1 หรือบุคคลใด หรือฟ้องข้อหาใด จึงเป็นการมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มอบอำนาจให้นายสุรวุฒิเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน รวมทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ นายสุรวุฒิมอบอำนาจช่วงให้นายภัคเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน 3 ฉบับ ฉบับละ 20,000 บาท ลงวันที่ 20 มกราคม 2546 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 และวันที่ 20 มีนาคม 2546 มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัย เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสำเหร่ เพื่อเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับตามวันที่ลงในเช็ค โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คทั้งสามฉบับเป็นเงิน 60,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องโจทก์ขอคิดเพียง 4,525 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 64,525 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้นายสุรวุฒิเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์รวมทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงเป็นการมอบอำนาจทั่วไป เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุว่าให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง จึงเป็นต้องการห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคสอง (5) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 ของต้นเงิน 20,000 บาท และวันที่ 21 มีนาคม 2546 ของต้นเงิน 20,000 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับการมอบอำนาจฟ้องคดีของโจทก์ โดยข้อเท็จจริงในส่วนนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุรวุฒิเป็นตัวแทนมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่บุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ รวมทั้งให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และนายสุรวุฒิได้มอบอำนาจช่วงให้นายภัคเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ โดยทำหนังสือมอบอำนาจช่วงไว้ก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2546 ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 ฎีกาประการแรกว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 ทำขึ้นก่อนหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน ขณะนายสุรวุฒิลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจช่วง นายสุรวุฒิยังไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 เพราะมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ และไม่อาจให้สัตยาบันภายหลังได้ นายภัคผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายสุรวุฒิจึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาต่อมาได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นายสุรวุฒิทำหนังสือมอบอำนาจให้นายภัคเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง แม้ขณะนั้นนายสุรวุฒิยังมิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้เป็นผู้ฟ้องคดีแทนก็หาใช่เป็นเรื่องที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้อันจะตกเป็นโมฆะไม่ ผลคงมีเพียงว่า นายภัคยังไม่อาจฟ้องคดีแทนโจทก์โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ทำกันไว้ในขณะนั้นได้เท่านั้น ต่อมาเมื่อนายสุรวุฒิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีอำนาจฟ้องคดีแทนแล้ว นายสุรวุฒิและนายภัคก็มิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับเดิมตามเอกสารหมาย จ.3 หรือทำหนังสือมอบอำนาจช่วงขึ้นใหม่ แสดงว่าบุคคลทั้งสองมีเจตนาให้ใช้หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 ต่อไป และแม้จะทำขึ้นใหม่ข้อความก็คงต้องเป็นเช่นเดิม หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 จึงสมบูรณ์ และมีผลทำให้นายภัคมีอำนาจแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่นายสุรวุฒิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นต้นไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการต่อไปว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มิได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งหรือเจาะจงว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องบุคคลใดหรือข้อหาใดบ้าง จึงเป็นการมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคสอง (5) นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคสอง (5) เป็นบทกฎหมายที่ห้ามมิให้ตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปฟ้องคดีแทนตัวการในกรณีที่การมอบอำนาจมิได้ระบุให้ตัวแทนฟ้องคดีแทนตัวการได้เท่านั้น แต่ในกรณีของโจทก์นี้ ข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสุรวุฒิเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของโจกท์ โดยให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่บุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ ที่กระทำการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งในทางคดีแพ่งหรือคดีอาญา รวมทั้งให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงเพื่อดำเนินการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้นายสุรวุฒิเป็นตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์โดยตรงอยู่แล้ว และการมอบอำนาจในกรณีเช่นนี้ก็ไม่จำต้องระบุไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าให้ฟ้องจำเลยที่ 1 หรือบุคคลใด หรือฟ้องข้อหาใด จึงเป็นการมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายสุรวุฒิมอบอำนาจช่วงให้นายภัคดำเนินการ นายภัคย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจต่อเนื่องกันมา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้