แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาขายอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนให้แก่โจทก์ จำเลยจะมอบสินค้ายี่ห้ออื่นแก่โจทก์มิได้ แม้สินค้านั้นจะมีคุณสมบัติการใช้งานเหมือนกันก็ตาม เมื่อจำเลยส่งมอบอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้ออื่น จึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ แต่ ว. พนักงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจรับมอบสินค้า มิได้ตรวจสอบสินค้าให้รอบคอบก่อนว่าเป็นยี่ห้อตรงตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของ ว. ตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อของ ว. ด้วยตาม ป.พ.พ มาตรา 223 วรรคสอง ประกอบมาตรา 220
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับจ้างช่วงจากห้างหุ้นส่วนจำกัดหาดใหญ่สรรพกิจในการติดตั้งระบบไฟฟ้า ณ อาคารหอผู้ป่วยพิเศษและส่วนจอดรถยนต์ 12 ชั้น โครงการ 2 คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โจทก์ทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ระบบแจ้งสัญญาณเพลิงไหม้อัตโนมัติจากจำเลย จำเลยจัดส่งสินค้าผิดไปจากสัญญา กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาต้องจัดส่งสินค้าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ยี่ห้อทรอน รุ่น 601 แต่จำเลยกลับส่งสินค้าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อเคมีทรอนิครุ่น 601 ให้แก่โจทก์ โดยในเอกสารกำกับสินค้าของจำเลยระบุเพียงเลขรุ่นที่ตรงกัน แต่ไม่ได้ระบุยี่ห้อ เป็นเหตุให้พนักงานของโจทก์หลงผิดและนำอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อเคมีทรอนิคที่จำเลยส่งมาติดตั้งให้แก่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ต่อมาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ตรวจพบว่าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนผิดยี่ห้อโจทก์จึงขอให้จำเลยจัดส่งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนมาเปลี่ยนกับยี่ห้อที่จำเลยส่งมาผิด แต่จำเลยกลับแจ้งให้โจทก์ถอดและส่งอุปกรณ์ที่จำเลยส่งมาผิดนั้นกลับคืนไปให้จำเลยก่อน เพื่อไม่ให้การส่งมอบงานต้องล่าช้า โจทก์จึงได้สั่งซื้อสินค้าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนจากบริษัทไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำมาติดตั้งให้แก่ผู้ว่าจ้างแทนสินค้าของจำเลยที่ส่งมาผิด การที่จำเลยผิดสัญญาดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องจ่ายค่าแรงล่วงเวลาให้แก่ช่วงในการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นเงิน 61,000 บาท ค่าสินค้าที่สั่งซื้อใหม่เป็นเงิน 267,854.38 บาท และการใช้สินค้าผิดยี่ห้อเป็นเหตุให้โจทก์เสียชื่อเสียงในทางธุรกิจ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 1,000,000 บาท และจำเลยต้องรับผิดชำระค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้านับแต่วันที่จำเลยส่งสินค้าไม่ถูกต้องให้แก่โจทก์ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 90,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 1,418,854.38 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และรับอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อเคมีทรอนิคคืนไปจากโจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาเนื่องจากได้จัดส่งสินค้าถูกต้องตรงตามแบบรายการใบเสนอราคาของจำเลยทุกประการ และตามสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้ามิได้ระบุว่าสินค้าในรายการที่สั่งซื้อจะต้องเป็นสินค้ายี่ห้อทรอนแต่อย่างใด เมื่อจำเลยจัดส่งสินค้าให้แก่โจทก์ โจทก์ตรวจรับสินค้าและยืนยันว่าสินค้าที่จำเลยจัดส่งให้เป็นชนิดและประเภทเดียวกันกับที่ระบุไว้ในสัญญาและตัวแทนของโจทก์ยอมรับสินค้าโดยไม่ได้อิดเอื้อน โจทก์เพิ่งแจ้งให้จำเลยจัดส่งสินค้ายี่ห้อทรอนให้แก่โจทก์ หลังจากที่ได้รับสินค้าไว้แล้วถึง 6 เดือน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 348,662.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันฟังเป็นยุติได้ว่า วันที่ 21 ตุลาคม 2541 ห้างหุ้นส่วนจำกัดหาดใหญ่สรรพกิจว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งระบบไฟฟ้าในตัวอาคารหอผู้ป่วยพิเศษและส่วนจอดรถ 12 ชั้น ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2543 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์รับแจ้งสัญญาณเพลิงไหม้อัตโนมัติจากจำเลย ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน รุ่น 601 ยี่ห้อทรอนด้วย ตามใบสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.12 สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.6 และใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.7 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 จำเลยได้จัดส่งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนรุ่น 601 ยี่ห้อเคมีทรอนิคให้แก่โจทก์ซึ่งผิดไปจากสัญญาซื้อขาย และจำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2543 ถึงลูกค้าของจำเลยว่าจำเลยได้หยุดจำหน่ายระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ภายใต้ชื่อสินค้าทรอนแล้วตามเอกสารหมาย จ.30
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีนายวิสันต์เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจรับสินค้าประเภทอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลย ในการตรวจรับสินค้าพยานจะตรวจสอบรุ่นของสินค้าและจำนวนว่าตรงกับที่สั่งซื้อหรือไม่ หลังจากนั้นได้นำสินค้าเข้าเก็บในโกดัง และมีนายสมศักดิ์กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความว่า เมื่อจำเลยส่งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนมาที่บริษัทโจทก์แล้ว พยานได้ให้พนักงานของโจทก์แกะกล่องแล้วนำสินค้ามาตรวจนับว่ามีจำนวนตรงตามใบกำกับสินค้าหรือใบแจ้งหนี้หรือไม่ แล้วจึงเก็บเข้าโกดัง ประมาณเดือนธันวาคม 2543 พยานได้เซ็นอนุมัติให้พนักงานเบิกอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนดังกล่าวไปติดตั้งทั้งหมดซึ่งมีจำนวน 429 ชิ้น ต่อมาประมาณกลางเดือนธันวาคม 2543 ผู้ควบคุมงานก่อสร้างของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์แจ้งแก่พยานว่า อุปกรณ์ตรวจจับความร้อนที่โจทก์นำไปติดตั้งผิดยี่ห้อจากที่ขออนุมัติใช้ พยานได้โทรศัพท์แจ้งนายพูนศักดิ์พนักงานของจำเลยให้ทราบ นายพูนศักดิ์ให้โจทก์ถอดอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนทั้งหมดส่งคืนจำเลย แล้วจำเลยจะส่งยี่ห้อที่ถูกต้องให้ใหม่พยานเห็นว่าเป็นเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่โจทก์จะต้องส่งมอบงานให้แก่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้ว และจำเลยไม่ได้กำหนดเวลาแน่นอนว่าจะส่งสินค้าที่มียี่ห้อที่ถูกต้องให้โจทก์ได้เมื่อใด ทั้งในเดือนมิถุนายน 2543 พยานทราบว่าจำเลยจะเลิกเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนแล้ว พยานจึงเชื่อว่าจำเลยไม่สามารถกำหนดเวลาส่งมอบที่แน่นอนได้ พยานจึงได้สั่งซื้อเครื่องตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนจากบริษัทไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาเปลี่ยนทั้งหมดจำนวน 429 ชิ้น และสำรองไว้อีก 5 ชิ้น ส่วนจำเลยมีนายพูนศักดิ์เบิกความว่า จำเลยจัดส่งสินค้าแก่โจทก์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 ต่อมาเดือนธันวาคม 2543 โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยจัดส่งสินค้าให้แก่โจทก์ผิดยี่ห้อ พยานจึงมีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์ว่า บริษัทจำเลยยินดีที่จะเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ แต่ขอให้โจทก์จัดส่งสินค้าเก่าคืนมาให้เสียก่อน หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์จัดส่งสินค้าเก่าคืนมาให้จำเลยแต่อย่างใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง” และมาตรา 215 บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้” การที่จำเลยทำสัญญาขายอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนให้แก่โจทก์ จำเลยก็ต้องส่งมอบสินค้ายี่ห้อทรอนให้แก่โจทก์ จะมอบสินค้ายี่ห้ออื่นแก่โจทก์มิได้ แม้สินค้านั้นจะมีคุณสมบัติการใช้งานเหมือนกันก็ตาม เมื่อจำเลยส่งมอบอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อเคมีทรอนิค ซึ่งมิใช่ยี่ห้อทรอนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ แต่ตามมาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร” จากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า นายวิสันต์พนักงานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคลังสินค้าเป็นผู้ตรวจรับมอบสินค้าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนจากจำเลย โดยตรวจสอบเฉพาะรุ่นของสินค้าและจำนวนเท่านั้นซึ่งน่าเชื่อว่านายวิสันต์มิได้ตรวจสอบสินค้าให้รอบคอบก่อนว่าเป็นยี่ห้อทรอนตรงตามสัญญาซื้อขายหรือไม่ เพราะหากตรวจสอบยี่ห้อด้วยและพบว่ามียี่ห้อไม่ตรงตามสัญญาซื้อขายเช่นนี้นายวิสันต์ย่อมจะไม่ยอมรับมอบสินค้าจากจำเลยอย่างแน่นอน เนื่องจากมียี่ห้อไม่ตรงกับที่โจทก์ได้รับอนุมัติให้ติดตั้งจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อนำไปติดตั้งแล้วจะเกิดปัญหายุ่งยากในการตรวจรับงานจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ การไม่ตรวจสอบดูยี่ห้อของสินค้าว่าตรงตามสัญญาหรือไม่เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของนายวิสันต์พนักงานของโจทก์ และหากนายวิสันต์จะตรวจสอบดูยี่ห้อก่อนก็สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย เพราะที่ข้างกล่องใส่อุปกรณ์ตรวจจับความร้อนที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์แต่ละชิ้นตามวัตถุหมาย ว.ล.1 ก็ระบุยี่ห้อเคมีทรอนิคไว้ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน หากนายวิสันต์ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ยี่ห้อทรอนตามสัญญาซื้อขายก็สามารถแจ้งแก่จำเลยให้เปลี่ยนเป็นยี่ห้อทรอนให้ถูกต้องได้ในทันที และเชื่อว่าจำเลยต้องเปลี่ยนให้ใหม่เพราะแม้ตรวจพบภายหลังจากติดตั้งแล้วจำเลยก็ยังไม่ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนยี่ห้อให้ใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะไม่เกิดปัญหาว่าจำเลยส่งมอบสินค้าช้ากว่ากำหนดแต่อย่างใด และก็จะไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งซื้ออุปกรณ์ตรวจจับความร้อนจากบริษัทไทโก้ อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของนายวิสันต์ตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อของนายวิสันต์ด้วยตามมาตรา 223 วรรคสองประกอบมาตรา 220 ทั้งเมื่อตรวจรับสินค้าแล้วโจทก์ยังเก็บสินค้าดังกล่าวไว้เป็นเวลานานประมาณ 6 เดือน จึงนำมาติดตั้งนับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมาก และขณะติดตั้งฝ่ายโจทก์ก็มีโอกาสตรวจสอบอีกครั้งว่าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนดังกล่าวเป็นยี่ห้อทรอนตามที่ได้รับอนุมัติจากโรงพยาบาลสงขลาครินทร์หรือไม่ หากตรวจพบเสียก่อนก็ไม่ต้องเสียค่าจ้างติดตั้งเพิ่ม และขอเปลี่ยนยี่ห้อที่ถูกต้องจากจำเลยได้อีกเช่นกัน และแม้ติดตั้งและตรวจพบแล้วว่าจำเลยส่งมาผิดยี่ห้อโจทก์แจ้งจำเลยแล้ว จำเลยให้โจทก์ถอดเครื่องเก่าคืน และจำเลยจะส่งเครื่องใหม่ยี่ห้อทรอนมาให้แทน แต่โจทก์ก็มิได้ถอดเครื่องเก่านำไปคืนแก่จำเลยแต่อย่างใด กลับไปซื้อจากบริษัทไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาติดตั้งแทน ซึ่งเป็นการกระทำไปตามอำเภอใจของโจทก์ หากโจทก์รีบดำเนินการส่งเครื่องเก่าคืนจำเลย และจำเลยส่งเครื่องใหม่แก่โจทก์ ก็สามารถติดตั้งได้ทันเวลาเช่นกัน และที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่สามารถหาอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนให้แก่โจทก์ได้ทัน เพราะจำเลยหยุดจำหน่ายระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ภายใต้ชื่อสินค้าทรอนแล้วตามเอกสารหมาย จ.30 นั้นก็เป็นการคาดคะเนของโจทก์เอง เพราะแม้จำเลยจะเลิกเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ายี่ห้อทรอนไปแล้ว แต่จำเลยยังมีหน้าที่ต้องหาซื้ออุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนมาเปลี่ยนให้โจทก์ และจำเลยก็รับว่าจะเปลี่ยนให้โจทก์ใหม่ แต่โจทก์กลับเพิกเฉยและไปซื้อจากบริษัทไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาติดตั้งแทนเอง เมื่อพิเคราะห์จากพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยมาก จึงเห็นสมควรให้ค่าเสียหายดังกล่าวตกเป็นพับแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ