คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6052/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่ลาดกระบังเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการจากการรถไฟแห่งประเทศไทย การดำเนินกิจการดังกล่าวเชื่อมต่อกับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนกิจการนำเข้าและส่งออกของประเทศและการเติบโตของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยคิดค่าบริการจากผู้ที่ใช้บริการ การดำเนินกิจการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องของโจทก์จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟคือการรับขนส่งสินค้าตามมาตรา 6 (2) และมาตรา 9 (7) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ดังนั้น สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475
โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่ได้ชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยไป โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 ที่จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการบริหารงานกรุงเทพมหานคร เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับผิดชอบกิจการของกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง เลขที่ 33/4 หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าคุณทหาร แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้รับสัมปทานในการประกอบกิจการบรรจุและแยกสินค้า (สถานี A) จากการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้เช่าพื้นที่บริเวณส่วนกลางนอกเขตสัมปทานคือโรงพักสินค้าเนื้อที่ 4,140 ตารางเมตรเพื่อเก็บสินค้าส่งออก คิดค่าเช่าเดือนละ 124,200 บาท และเช่าพื้นที่ต่อเนื่องหน้าโรงพักสินค้าอีก 6,274 ตารางเมตร คิดค่าเช่าเดือนละ 125,480 บาท มีระยะเวลาเช่า 8 เดือน รวมค่าเช่า 249,680 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ผู้เช่ามีหน้าที่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนและในนามการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บภาษีของสำนักงานเขตลาดกระบังแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2544 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยชำระภาษี 277,052.12 บาท การรถไฟแห่งประเทศไทยแจ้งให้โจทก์ทราบวันที่ 22 ตุลาคม 2544 และโจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2544 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดว่าหมดสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 27 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานและคำชี้ขาดไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากสัญญาเช่าและอัตราค่าเช่าโรงพักสินค้าและพื้นที่ต่อเนื่องดังกล่าวถูกต้องและมีอัตราแน่นอนชัดแจ้ง ค่ารายปีต้องกำหนดมาจากค่าเช่าตามสัญญา การประเมินของเจ้าพนักงานมิได้ตั้งอยู่บนฐานแห่งค่ารายปีตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการประเมินภาษีตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่วางข้อกำหนดให้ต้องสำรวจจากการที่ได้มีการเช่าจริง และตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 63/2538 เรื่อง การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน โดยโจทก์จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเพียง 93,630 บาท เท่านั้น นอกจากนี้โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีสามารถใช้สิทธิได้ในนามของตนเอง โจทก์รับทราบตามหนังสือแจ้งการประเมินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยวันที่ 22 ตุลาคม 2544 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ภายในกำหนดระยะเวลา และกรณีของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 26, 27 และ 31 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 และคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาด ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จัดเก็บไปโดยไม่ถูกต้อง จำนวน 183,422.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะมิใช่เจ้าของโรงเรือนและมิใช่ผู้รับประเมิน โจทก์ไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่จะกระทำได้ในนามของตนเอง โจทก์ไม่ได้รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรือนและที่ดินและเป็นผู้รับประเมิน โจทก์จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย และคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรกลาง กรณีนี้เจ้าของทรัพย์สินซึ่งเป็นผู้รับประเมินเป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจ หากไม่เห็นด้วยกับการประเมินจะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด และมติคณะรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุดตามมาตรา 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งไม่อาจนำคดีมาสู่ศาลได้ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทราบ และการรถไฟแห่งประเทศไทยมิได้ขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ ได้นำเงินค่าภาษีมาชำระแล้วค่ารายปีและค่าภาษีดังกล่าวจึงยุติ สำหรับการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น เจ้าพนักงานกำหนดค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 30 มีนาคม 2535 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำชี้ขาดถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่เคยรับเงินค่าภาษีจากโจทก์ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า โรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ทำสัญญาสัมปทานดำเนินกิจการสถานีบริการบรรจุและแยกสินค้ากล่องดังกล่าวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเสียค่าตอบแทนให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในการเสนอประมูล กับต้องชำระค่าภาษีต่าง ๆ และค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องชำระตามกฎหมายแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งรวมถึงจำนวนเงินที่ต้องรับผิดชอบสำหรับภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับทรัพย์สินใด ๆ ของสถานี และต้องประกันวินาศภัยโรงเรือนที่ได้รับสัมปทานโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 พนักงานเก็บภาษีของสำนักงานเขตลาดกระบังของจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2544 ของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่โจทก์ได้รับสัมปทาน โดยประเมินค่ารายปีจากค่าธรรมเนียมที่โจทก์ชำระให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยในปี 2544 รวมกับค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์จะต้องชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทาน คูณด้วย 8 แล้วหารด้วย 7 ผลลัพธ์ที่ได้เป็นค่ารายปีที่ใช้เป็นฐานประเมินภาษี ตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร และคำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวนตามฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ จำเลยที่ 2 ชี้ขาดว่าผู้รับการประเมินหมดสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณานั้นใหม่ได้ตามมาตรา 27 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนตามคำชี้ขาดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว
ในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรง ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2534 หรือไม่ โดยปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 เห็นว่า มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 บัญญัติว่า การจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้… (2) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนและดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟ และธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟและมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง… (7) รับขนส่งคนโดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์ และของอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เชิญผู้สนใจยื่นประกวดข้อเสนอเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่ลาดกระบังสถานี A และสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 ถึง 18 แล้ว จะเห็นได้ว่าการดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องนี้เกี่ยวเนื่องกับระบบการขนส่งสินค้ากล่องเชื่อมต่อกับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเพื่อสนับสนุนกิจการนำเข้าและส่งออกของประเทศและการเติบโตของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยผู้ดำเนินการที่สถานีนี้จะทำหน้าที่ขนถ่ายและแยกสินค้าที่บรรจุมาในตู้สินค้าที่บรรทุกมาจากต่างประเทศโดยทางเรือมาที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง แล้วขึ้นรถไฟมาที่สถานีดังกล่าวเพื่อนำส่งให้ผู้นำเข้า หรือนำส่งสินค้าที่จะต้องส่งไปต่างประเทศทางเรือมาบรรจุในตู้สินค้าเพื่อขนขึ้นรถไฟไปที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยคิดค่าบริการจากผู้ที่ใช้บริการ การดำเนินกิจการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องจึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟคือการรับขนส่งสินค้าตามมาตรา 6 (2) และมาตรา 9 (7) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ดังนั้น สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การประเมินของเจ้าพนักงานเก็บภาษีของสำนักงานเขตลาดกระบังและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินพิพาทตามที่ได้ชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยไป โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 ที่จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยเห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินค่าภาษีโรเงรือนและที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีหน้าที่ต้องชำระดังวินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยึดถือเงินดังกล่าวและต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 หาต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการคืนเงินแก่โจทก์ไม่ อย่างไรก็ตามโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ตนได้ชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมด ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ได้เท่าจำนวนตามคำฟ้องเท่านั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2544 สำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่ลาดกระบังสถานี A ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับสถานีดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีให้แก่โจทก์ จำนวน 183,422.12 บาท ภายในสามเดือนนับแต่ฟังคำพิพากษานี้ หากไม่คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share