แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน โดยมิได้ให้ความหมายคำว่า “ข้าราชการ” ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ข้าราชการ” ตามพจนานุกรม คือ คนที่ทำงานราชการตามทำเนียบผู้ปฏิบัติราชการในส่วนราชการซึ่งหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติราชการหรือทำงานในหน้าที่ราชการ พยาบาลนอกเวลาเป็นผู้ที่ทำงานให้แก่บริษัทโจทก์ซึ่งเป็นเอกชนนอกเวลาราชการในฐานะลูกจ้างของโจทก์ จึงไม่ใช่ข้าราชการตามความใน มาตรา 4 (1) พยาบาลนอกเวลาจึงเป็นลูกจ้างที่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้รับการยกเว้น โจทก์จึงเป็นนายจ้างที่ต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน เดิมโจทก์ที่ 1 ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชนในนามโรงพยาบาลเพชรรัชต์ ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ที่ 1 ได้หยุดกิจการชั่วคราวและโอนกิจการพร้อมทรัพย์สินรวมทั้งลูกจ้างทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ได้ประกอบกิจการในนามของโรงพยาบาลเพชรรัชต์ต่อมา ครั้นวันที่ 27 กันยายน 2544 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลได้มีคำสั่งที่ พบ. 0030/6378 ลงวันที่ 27 กันยายน 2544 แจ้งให้โจทก์ที่ 1 จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2542 เพิ่มเติมอีก 5,565 บาท และจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมประจำปี 2542 จำนวน 177,704 บาท พร้อมเงินเพิ่ม โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1175 – 1178/2545 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง คำสั่งของจำเลยทั้งสองและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง เพราะพยาบาลนอกเวลา (PART TIME) เป็นลูกจ้างที่จ้างไว้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ.2534 มาตรา 3 (4) ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เนื่องจากพยาบาลนอกเวลาไม่มีวันหยุดวันลา ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา จะได้รับค่าจ้างก็ต่อเมื่อทำงานให้แก่โรงพยาบาลพยาบาลนอกเวลาเป็นผู้กำหนดวันเวลาทำงานเอง หากจะหยุดงานก็ทำได้ตามความพอใจไม่ต้องเขียนใบลา โจทก์ทั้งสองไม่สามารถสั่งให้ทำงานต่อไป การทำงานของพยาบาลนอกเวลาไม่ต่อเนื่องความสัมพันธ์ของพยาบาลนอกเวลากับโจทก์ทั้งสองจะสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นสุดการจ้างแต่ละครั้ง แล้วเริ่มต้นใหม่เมื่อพยาบาลนอกเวลาขอทำงานใหม่และโจทก์ทั้งสองตกลงให้ทำงาน พยาบาลนอกเวลาไม่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีสวัสดิการเหมือนลูกจ้างทั่วไปทั้งพยาบาลนอกเวลาของโจทก์ทั้งสองในช่วงปี 2541 และ 2542 เป็นข้าราชการซึ่งทำงานปกติให้แก่ทางราชการ มีสวัสดิการของข้าราชการพลเรือนตามที่กฎหมายกำหนด มาทำงานนอกเวลาปกติให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิสวัสดิการของข้าราชการพลเรือนและไม่ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม เพราะจะทำให้ถูกหักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบอันเป็นการซ้ำซ้อน โจทก์ทั้งสองและพยาบาลนอกเวลาจึงไม่มีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและไม่ต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่สั่งให้โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองจ้างบุคคลภายนอกเข้าทำงาน 3 ประเภท ได้แก่ฝ่ายการแพทย์ ฝ่ายการพยาบาลและฝ่ายการบริหาร โดยฝ่ายการพยาบาลมีพยาบาล 2 ประเภท คือ พยาบาลเต็มเวลา (FULL TIME) ซึ่งปฏิบัติงานในช่วงเวลาปกติระหว่าง 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน กับพยาบาลนอกเวลา (PART TIME) ซึ่งปฏิบัติงานในช่วงเวลาเย็นและกลางคืนได้รับค่าตอบแทนในการทำงานเป็นรายชั่วโมง การเข้าทำงานของพยาบาลนอกเวลาเริ่มต้นด้วยการกรอกใบสมัครตามแบบฟอร์มของโจทก์ที่ 1 และตกลงกับโจทก์ทั้งสองว่าสามารถปฏิบัติงานได้ในวันเวลาใดบ้างโดยโจทก์ทั้งสองจะจัดทำตารางเวรการปฏิบัติงานในแต่ละเดือนแจ้งเป็นหนังสือให้พยาบาลนอกเวลาทราบภายในวันที่ 25 ของเดือน ก่อนเดือนที่จะปฏิบัติงาน พยาบาลนอกเวลาจะพิจารณาว่าตนสามารถปฏิบัติงานตามตารางเวลาทำงานนั้นได้หรือไม่แล้วตอบให้โจทก์ทั้งสองทราบในหนังสือดังกล่าว วันใดติดธุระหรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้พยาบาลนอกเวลาต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ หากไม่แจ้งโจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะสั่งหยุดงานหรือห้ามไม่ให้ขึ้นเวรทำงานในเวรถัดไปได้ และโจทก์ทั้งสองมีสวัสดิการให้ส่วนลดในการใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของโจทก์ทั้งสองแก่พยาบาลนอกเวลาและครอบครัวร้อยละ 30 ความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4 (1) ที่ไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 บังคับแก่ราชการลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายวันชั่วโมงของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนนั้น หมายถึงข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวันและลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของหน่วยราชการที่ทำงานให้แก่ส่วนราชการเท่านั้น มิได้รวมถึงข้าราชการหรือลูกจ้างของหน่วยราชการที่ใช้นอกเวลาราชการทำงานให้แก่นายจ้างอื่นซึ่งอยู่ในภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคมด้วย และลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ.2534 มาตรา 3 (4) หมายถึง ลูกจ้างที่นายจ้างได้จ้างไว้ทำงานเป็นครั้งคราวนอกเหนือจากงานปกติหรืองานหลักที่นายจ้างประกอบกิจการอยู่ แต่เป็นงานที่นายจ้างทำเสริมเป็นการชั่วคราวหรือมีช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น งานพยาบาลนอกเวลาเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการหลักของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ให้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 บังคับ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 (6) โจทก์ทั้งสองจ้างพยาบาลนอกเวลามาปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลเข้าเวรทำงานในโรงพยาบาลของโจทก์ทั้งสองโดยให้ค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง พยาบาลนอกเวลาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามวันเวลาที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า หากไม่มาทำงานต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบล่วงหน้า ถ้าไม่แจ้งโจทก์ทั้งสองมีสิทธิสั่งหยุดงานหรือห้ามขึ้นเวรทำงานในเวรถัดไปได้ ข้อตกลงดังกล่าวมีสภาพบังคับทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจบังคับบัญชา ข้อตกลงดังกล่าวมีสภาพบังคับทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจบังคับบัญชา และในทางปฏิบัติเมื่อพยาบาลนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่กับแพทย์คนใดก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์คนนั้น ทั้งต้องปฏิบัติตามระเบียบของโรงพยาบาลเช่นเดียวกับพยาบาลคนอื่น หากฝ่าฝืนก็มีโทษ เช่นแพทย์อาจตักเตือนหรือรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาเลิกจ้างได้ พยาบาลนอกเวลาหาได้มีอิสระที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการใดได้ตามอำเภอใจไม่ และลักษณะงานของพยาบาลนอกเวลามุ่งใช้แรงงานมากกว่าการคำนึงถึงผลสำเร็จของงาน โจทก์ทั้งสองจึงเป็นนายจ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน คำสั่งของจำเลยทั้งสองและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน ให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในนามของโรงพยาบาลเพชรรัชต์ โดยว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้าทำงานเป็นลูกจ้างหลายฝ่าย เฉพาะฝ่ายการพยาบาลมีลูกจ้างอยู่ 2 ประเภท คือ พยาบาลเต็มเวลา (FULL TIME) ปฏิบัติงานในช่วงเวลาปกติระหว่าง 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา กับพยาบาลนอกเวลา (PART TIME) ปฏิบัติงานในช่วงเวลาเย็นและกลางคืน พยาบาลนอกเวลาที่โจทก์ทั้งสองจ้างทำงานนั้นเป็นข้าราชการประจำ มาทำงานให้โจทก์ทั้งสองนอกเวลาราชการ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า พยาบาลนอกเวลาดังกล่าวเป็นข้าราชการตามความใน มาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ให้บังคับแก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของส่วนราชการกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน โดยมิได้ให้ความหมายคำว่า “ข้าราชการ” ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ข้าราชการ” ตามพจนานุกรม คืน คนที่ทำงานราชการตามทำเนียบ ผู้ปฏิบัติราชการในส่วนราชการซึ่งหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติราชการหรือทำงานในหน้าที่ราชการ สำหรับกรณีนี้ พยาบาลนอกเวลาเป็นผู้ทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนนอกเวลาราชการในฐานะลูกจ้างของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้าราชการตามความในมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พยาบาลนอกเวลาจึงเป็นลูกจ้างที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้รับการยกเว้น โจทก์ทั้งสองจึงเป็นนายจ้างที่ต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.