คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โฉนดที่ดินซึ่งออกให้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2462 มีข้อความว่า โฉนดที่ดินฉบับนี้ให้ไว้เป็นสำคัญแก่ ล. ในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีน แสดงให้เห็นว่า ล. มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นทรัสต์ที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกที่ดินแปลงนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของ ล. อันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ทรัสต์ที่ตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ซึ่งเป็นวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มาตรา 1686 มีผลสมบูรณ์ใช้ได้เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง
ล. มีชื่อเป็นทรัสต์ในโฉนดที่ดินก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 จึงต้องใช้กฎหมายก่อนนั้นบังคับ คือ พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 2พ.ศ. 2459 มาตรา 8 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าผู้ใดเป็นทรัสต์ในเรื่องที่ดินมีโฉนดแผนที่แล้วให้มีอำนาจมาจดทะเบียนชื่อให้มีข้อความบ่งชัดในหลังโฉนดว่าเป็นทรัสต์ด้วย เมื่อโฉนดที่ดินว่าโฉนดที่ดินมีข้อความฉบับนี้ให้ไว้เป็นสำคัญแก่ ล. ในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีน จึงฟังได้ว่ามีการตั้งทรัสต์ขึ้นจริง เพราะตามกฎหมายเรื่องทรัสต์ขณะนั้นการตั้งทรัสต์ไม่ต้องทำเป็นตราสารตามแบบพิธีอย่างใดเป็นพิเศษ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายทอง แซ่ตัน นายทองเป็นบุตรของนายจินหงวน นายจินหงวนเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายโลไกจวย นายโลไกจวยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 496 ตำบลสาธร อำเภอสาธร (บางรัก) กรุงเทพ-มหานคร มาตั้งแต่ พ.ศ. 2462 เมื่อ พ.ศ. 2480 หรือ 2481 นายโลไกจวยตาย นายโลไกจวยไม่มีภริยาและบุตรทั้งมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดไว้ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่นายจินหงวน ต่อมานายจินหงวนตาย และเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 นายทองตายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องไปติดต่อขอรับโอนมรดกแต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการให้ได้ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายโลไกจวยผู้ตาย

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้วไม่มีผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำร้องขอของผู้ร้องอ้างว่า ที่ดินโฉนดที่ดิน 496 ตำบลสาธร อำเภอสาธร (บางรัก) กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.7 เป็นทรัพย์ของนายโลไกจวย นายโลไกจวยตาย พ.ศ. 2480 หรือ 2481 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ผู้ร้องไปขอรับมรดกแต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการให้ได้ต้องมีผู้จัดการมรดกเสียก่อนนั้น เห็นว่า ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.7 มีข้อความว่า โฉนดที่ดินฉบับนี้ … ให้ไว้เป็นสำคัญแก่นายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋า เจ้าพนักงานออกโฉนดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25เมษายน 2462 แสดงให้เห็นว่า นายโลไกจวยมีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นทรัสต์ของที่ดินแปลงนี้ซึ่งใช้เป็นป่าช้าจีนบ้าบ๋า ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของนายโลไกจวย อันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ที่ดินแปลงนี้อยู่ในประเทศไทย ย่อมจะต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มาตรา 1686 มาบังคับ ดังนั้นการก่อตั้งทรัสต์หามีผลไม่นั้น เห็นว่า ทรัสต์ที่ตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ซึ่งเป็นวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มาตรา 1686 ย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้ได้เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การก่อตั้งทรัสต์จะต้องมีข้อความให้เห็นว่ายกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ให้และผูกมัดว่าต้องใช้ทรัพย์นั้นเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดคนเดียวหรือหลายคนอันกำหนดตัวแน่นอนหรือเพื่อสาธารณกุศลอันแน่นอน ที่ดินแปลงนี้มิใช่ทรัสต์นั้น เห็นว่า การมีชื่อนายโลไกจวยเป็นทรัสต์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว ได้ทำก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น ฉะนั้นการวินิจฉัยกรณีดังกล่าวจึงต้องใช้กฎหมายก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6บังคับ สำหรับเรื่องที่ดินได้มีพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2459 มาตรา 8 กำหนดว่า ถ้าผู้ใดเป็นทรัสต์ในเรื่องที่ดินมีโฉนดแผนที่แล้วให้มีอำนาจมาจดทะเบียนชื่อให้มีข้อความบ่งชัดในหลังโฉนดว่าเป็นทรัสต์ด้วย ดังนี้ข้อความที่บันทึกไว้ในโฉนดที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.7 ว่าโฉนดที่ดินฉบับนี้… ให้ไว้เป็นสำคัญแก่นายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าจึงเป็นหลักฐานเพียงพอที่ฟังได้ว่ามีการตั้งทรัสต์ขึ้นจริง เพราะตามกฎหมายเรื่องทรัสต์ขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าการตั้งทรัสต์จะต้องทำเป็นตราสารตามแบบพิธีอย่างใดเป็นพิเศษ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างอิงมาในฎีการูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ กรณีไม่จำต้องมีการจัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share