คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ที่บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึงห้ามโจทก์อ้างตัวจำเลยเป็นพยานของโจทก์เท่านั้น ฉะนั้นถึงแม้ร้อยเอกจุลจะเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสามมาก่อนศาลก็ได้สั่งให้แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีที่ร้อยเอกจุลเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงอ้างร้อยเอกจุลเป็นพยานได้โดยขณะที่ร้อยเอกจุลเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ร้อยเอกจุลมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย
การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิด ได้ทราบแล้วว่านายเซ่งเป็นคนยิงนายชาญตาย แต่ไม่ทำการจับกุมอันเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200 ทั้งยังร่วมกันขนย้ายศพนายชาญผู้ตายไปทิ้งเพื่อปิดบังการตายอันเป็นความผิดตาม มาตรา 199 นอกจากนี้ยังร่วมกันโกยเลือดนายชาญไปทิ้งที่อื่นอันเป็นความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานในการกระทำผิดตามมาตรา 184 เช่นนี้ แม้การกระทำของจำเลยทั้งสามจะเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่ก็ด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือเพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษและเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวกัน แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอาญาจำเลยที่ 2 เป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเป็นพนักงานสอบสวนจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจกิ่งอำเภอหนองพอกจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2516 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 9 มกราคม 2516 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสามได้ประสพเหตุรู้ว่านายเซ่งจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 334/2516 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 6 (ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด) ใช้อาวุธปืนยิงนายชาญตายจำเลยมีอำนาจจับกุม สืบสวนสอบสวน แต่จำเลยร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ไม่จับกุมนายเซ่งและไม่ทำการสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดี ทำให้เกิดความเสียหายแก่นางพรมและประชาชนตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสามกับร้อยเอกจุลซึ่งศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วกับพวกอีกหลายคน ร่วมกันยักย้ายทำลายศพนายชาญโดยเอาศพบรรทุกรถยนต์ไปทิ้งในเขตอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เพื่อปิดบังการตาย เพื่อช่วยเหลือนายเซ่งมิให้ต้องรับโทษ และจำเลยทั้งสามกับร้อยเอกจุลได้ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้นและทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิดของนายเซ่ง โดยร่วมกันขุดโกยเอาโลหิตของนายชาญที่พื้นดินหน้าชุดคุ้มครองหมู่บ้านดงบังไปทิ้งที่อื่น แล้วเอาดินมากลบเพื่อช่วยเหลือนายเซ่งมิให้ต้องรับโทษ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 184, 199, 200 และ 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 184, 199, 200 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 157 อันเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน

โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาใน (ปัญหา) ข้อเท็จจริงได้

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยฎีกาว่าร้อยเอกจุลถูกฟ้องมาในคดีเดียวกับจำเลยทั้งสาม แต่โดยที่ร้อยเอกจุลรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้แยกฟ้องจำเลยทั้งสามที่ให้การปฏิเสธเป็นคดีนี้เสียใหม่ จึงเท่ากับเป็นคดีเดียวกัน โจทก์จึงอ้างร้อยเอกจุลเป็นพยานและนำสืบไม่ได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 232 ที่บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึงห้ามโจทก์อ้างตัวจำเลยเป็นพยานของโจทก์เท่านั้น ถึงแม้ร้อยเอกจุลจะเป็นผู้ที่เคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสามมาก่อนก็ตาม ก็มิใช่ตัวจำเลยในคดีที่โจทก์ประสงค์จะอ้างเป็นพยาน เพราะศาลได้สั่งให้แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีที่ร้อยเอกจุลเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสามแล้ว โจทก์จึงอ้างร้อยเอกจุลเป็นพยานได้ไม่ต้องห้าม โดยขณะที่ร้อยเอกจุลเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ร้อยเอกจุลมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย กรณีไม่ต้องห้ามตามมาตรา 232 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าร้อยเอกจุลผู้นี้ยังไม่มีการสอบสวนในฐานะพยาน ย่อมอ้างเป็นพยานไม่ได้นั้นเห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดเลยที่บัญญัติไว้เช่นนั้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฯ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดได้ทราบแล้วว่านายเซ่งเป็นคนยิงนายชาญตาย แต่ไม่ทำการจับกุมอันเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 รวมทั้งสมคบร่วมกันขนย้ายศพนายชาญผู้ตายไปทิ้งเพื่อปิดบังการตายอันเป็นความผิดตามมาตรา 199นอกจากนี้จำเลยทั้งสามยังสมคบร่วมกันโกยเลือดนายชาญไปทิ้งที่อื่น อันเป็นความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานในการกระทำผิดตามมาตรา 184 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การกระทำผิดของจำเลยทั้งสามจะเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่ก็ด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษ และเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวกัน แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งบัญญัติให้ใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดแก่ผู้กระทำผิด แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งสามมีคุณงามความดีและไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาก่อน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสามไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี

Share