แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จ. เจ้าของที่ดินเดิมใช้ทางพิพาทร่วมกับจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงยินยอมอนุญาตให้ใช้ทางร่วมกันมิใช่การใช้ทางโดยเจตนาจะให้ได้ภารจำยอมจึงไม่อาจได้ภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1401เมื่อโจทก์ที่1ซื้อที่ดินจากจ. มาเมื่อปี2534และใช้ทางพิพาทต่อมาจนถึงปี2535จึงไม่ได้ภารจำยอมเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้ามีภูมิลำเนาใกล้เคียงกับทางพิพาทโดยโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 20208พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือบ้านเลขที่ 934, 935 และ 1072 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89199 กับบ้านเลขที่ 1077ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดิน ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดกัน ตามแผนผังที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เดิมที่ดินทั้งสองแปลงเป็นผืนเดียวกัน ต่อมาจำเลยขอแบ่งแยกออกเป็น 2 แปลง มีส่วนเท่ากันโดยแปลงหนึ่งเป็นของนางจันทร์เพ็ญ พินิจพลนิกร เมื่อวันที่19 เมษายน 2516 จำเลยและนางจันทร์เพ็ญได้ทำหนังสือยินยอมยกที่ดินที่มีแนวเขตติดต่อกันกว้างฝ่ายละ 0.50 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ หลังจากนั้นจำเลยกั้นรั้วตามแนวที่ดินห่างจากหลักเขตที่ดินเข้าไป 0.50 เมตร ส่วนนางจันทร์เพ็ญได้สร้างตึกโดยเว้นแนวที่ดินที่ตกลงยกให้เป็นทางสาธารณะไว้ จากนั้นจำเลยและนางจันทร์เพ็ญ ร่วมกันใช้ทางสาธารณะดังกล่าวตลอดมา เมื่อวันที่21 มกราคม 2534 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนางจันทร์เพ็ญและได้ใช้ทางสาธารณะนี้เข้าออกร่วมกันจำเลยและบุคคลอื่นโดยสงบและเปิดเผย ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2535 จำเลยกับพวกร่วมกันสร้างรั้วลวดหนามเป็นแนวยาวตรงกลางทางสาธารณะดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งห้าและบุคคลทั่วไปไม่สามารถใช้ทางดังกล่าวได้ตามปกติโจทก์ทั้งห้าชี้แจงให้จำเลยทราบถึงความเดือดร้อนดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามออกจากทางสาธารณะด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง และให้จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ หากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยยอมให้นางจันทร์เพ็ญ ใช้ที่ดินของจำเลยกว้าง 0.50 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินที่ติดต่อกันเป็นทางเข้าออกและนางจันทร์เพ็ญยังขอต่อท่อระบายน้ำจากบ้านของตนร่วมกับท่อระบายน้ำของจำเลยฉันญาติพี่น้องกัน โดยทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เพื่อใช้บังคับระหว่างจำเลยกับนางจันทร์เพ็ญเท่านั้น บันทึกดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกข้อตกลงดังกล่าวเป็นบุคคลสิทธิไม่ผูกพันบุคคลภายนอก จำเลยมีอำนาจขัดขวางมิให้โจทก์ทั้งห้ากับพวกใช้ทางพิพาท ทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะเพราะบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าออกหรือใช้ประโยชน์ได้ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเพราะตึกแถวอยู่หน้าที่ดินของโจทก์ที่ 1 ซึ่งติดกับซอยสองพี่น้อง โจทก์ที่ 1ได้ก่อสร้างอาคารและถมที่ดินโดยถมทางพิพาทสูงกว่าเดิม 0.50 เมตรเมื่อฝนตกน้ำจะขังและเข้าไปในตัวบ้านจำเลยทำให้สภาพทางพิพาทเปลี่ยนแปลงไปโดยจำเลยไม่สามารถใช้ทางได้ จำเลยแจ้งบอกเลิกการใช้ทางพิพาทและท่อระบายน้ำ แต่โจทก์ที่ 1 เพิกเฉย จำเลยจึงได้กั้นรั้ว เพราะสิทธิการใช้ทางพิพาทบนที่ดินของโจทก์ระงับสิ้นไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางสาธารณะแต่เป็นทางภารจำยอมที่ได้มาโดยอายุความ พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามออกจากทางพิพาท และให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมทางพิพาทส่วนที่อยู่ในเขตโฉนดเลขที่ 89199 ตำบลสำโรงเหนืออำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ของจำเลยหากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89199 โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 20208 โดยซื้อมาจากนางจันทร์เพ็ญ พินิจพลนิกร เมื่อปี 2534 ที่ดินจำเลยติดกับที่ดินโจทก์ที่ 1 ทางด้านทิศใต้ ตามที่จำลองแผนที่หลังสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 20208 เอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2516 จำเลยกับนางจันทร์เพ็ญ ได้ทำหนังสือยินยอมยกที่ดินของจำเลยกับนางจันทร์เพ็ญให้เป็นทางใช้ร่วมกันกว้างฝ่ายละ 0.50 เมตร ยาวตลอดสุดที่ดินของจำเลย ตามหนังสือยินยอมยกที่ดินเอกสารหมาย จ.3ซึ่งมิใช่ให้เป็นทางสาธารณะ และเมื่อโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 20208 จากนางจันทร์เพ็ญ พร้อมบ้านเลขที่ 934, 935 และ1072 บนที่ดินมาแล้วผู้เช่าบ้านโจทก์ที่ 1 กับบริวารได้ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออก ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2535 จำเลยได้สร้างรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาทเป็นแนวยาวและปักเสาที่พันด้วยรั้วลวดหนามกึ่งกลางของทางพิพาทล้ำเข้ามาในทางพิพาท 0.50 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 กับบริวารไม่สามารถใช้ทางพิพาทได้ตามปกติ ตามภาพถ่ายหมาย จ.5
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยมีสิทธิปิดกั้นไม่ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทในส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยหรือไม่เห็นว่า การที่นางจันทร์เพ็ญเจ้าของที่ดินเดิมใช้ทางพิพาทร่วมกับจำเลยก็โดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงยินยอมอนุญาตให้ใช้ทางร่วมกันตามหนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.3 มิใช่การใช้ทางโดยเจตนาจะให้ได้ภารจำยอม จึงไม่อาจได้ภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 เมื่อโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินจากนางจันทร์เพ็ญมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2534 และใช้ทางพิพาท ต่อมาจนถึงปี 2535 จึงไม่ได้ภารจำยอมเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมนั้นไม่ถูกต้องอย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้องและข้อนำสืบของโจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้ความว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาดังกล่าวแล้ว ได้ปรับปรุงตึกแถวบนที่ดินนั้นทำเป็นหอพักมีผู้เช่าตึกแถวของโจทก์ที่ 1ใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ถนน และโจทก์ที่ 1 ต่อท่อระบายน้ำเข้ากับท่อระบายน้ำของจำเลยที่ฝังอยู่ใต้ทางพิพาทไม่ปรากฎว่าจำเลยได้โต้แย้งหวงห้ามหรือปิดกั้นทางพิพาทแต่อย่างไร จนเมื่อโจทก์ที่ 1เทปูนยกระดับทางพิพาทสูงขึ้นและเกิดมีปัญหาน้ำท่วมขัง จำเลยจึงบอกเลิกการใช้ทางต่อโจทก์แล้วกั้นรั้วบนทางพิพาท แสดงว่าจำเลยกับโจทก์ที่ 1 ตกลงยอมรับโดยปริยายที่จะปฎิบัติตามข้อตกลงของจำเลยกับนางจันทร์เพ็ญเจ้าของที่ดินเดิมในอันที่ต่างฝ่ายต่างเว้นที่ดินของตนไว้เป็นทางพิพาทเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันมาประมาณ 1 ปีแล้ว จำเลยจึงต้องยอมให้โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทตามข้อตกลงต่อไป มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 ปฎิบัติผิดข้อตกลงในการใช้ทางพิพาทเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกการใช้ทางพิพาทได้หรือไม่ ปัญหานี้ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ในข้อนี้โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ที่ปรับปรุงยกระดับทางพิพาทสูงขึ้นเพื่อให้มีสภาพดีและน้ำไม่ท่วม ส่วนจำเลยเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าตึกแถวในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ทำให้มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำทิ้งมากและโจทก์ที่ 1 เทพื้นยกระดับทางพิพาททำให้น้ำท่วมขัง แต่จำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ที่ 1 ถามค้านว่าเดิมบ้านจำเลยสร้างสูงกว่าถนนซอยสองพี่น้อง แต่ปัจจุบันบ้านจำเลยอยู่ต่ำกว่าถนนซอยสองพี่น้อง เมื่อฝนตกน้ำท่วมถนนดังกล่าวน้ำจะทะลักเข้าบ้านจำเลยทางด้านหน้า ส่วนทางด้านข้างซึ่งเป็นทางพิพาทน้ำเข้าไม่ได้เพราะทางสูงขึ้น แต่น้ำจะไหลเข้าท่อระบายน้ำแล้วทะลักเข้าบ้านจำเลยได้ เห็นได้ว่า เหตุทีเกิดน้ำท่วมขังบ้านจำเลยน่าจะเกิดจากเหตุที่ปัจจุบันบ้านจำเลยอยู่ต่ำกว่าระดับถนนซอยสองพี่น้องดังกล่าวมากกว่า การที่โจทก์ที่ 1 เทพื้นทางพิพาทสูงขึ้น ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ปฎิบัติผิดข้อตกลงในการใช้ทางพิพาทร่วมกับจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกข้อตกลงดังกล่าวและไม่มีสิทธิทำรั้วปิดกั้นทางพิพาทและต้องรื้อถอนรั้วออกไปแต่เมื่อโจทก์ที่ 1 มีสิทธิใช้ทางพิพาทตามข้อตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลสิทธิและไม่ใช่ภารจำยอม โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่บังคับให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมทางพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์