แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมทแอมเฟตามีน ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางนอกจากจะบรรจุไว้ในซองพลาสติก ซึ่งมีลักษณะแบ่งแยกไว้จำเพาะแล้ว และยังมีจำนวนถึง 1,140 เม็ด มากเกินกว่าที่จำเลยจะนำมาเสพเอง ส่วน อีเฟดรีน ก็มีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม ถือว่าเป็นจำนวนมาก และยังเป็นวัตถุดิบที่ใช้สำหรับผลิตเมทแอมเฟตามีนอีกด้วย ของกลางทั้งสองรายการล้วนเป็นของผิดกฎหมายส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์จะนำไปใช้ในทางไม่สุจริต โดยเฉพาะอีเฟดรีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้นั้นส่วนหนึ่งอยู่ในถุงพลาสติกซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสีดำสำหรับใช้สะพายรวมอยู่ด้วยกับอาวุธปืนของจำเลย จากโต๊ะเครื่องแป้งในห้องนอน และอีเฟดรีนอีกส่วนหนึ่งอยู่ในกล่องกระดาษบรรจุในถุงหิ้วได้มาจากโซฟานอกห้องนอน ดังนี้อีเฟดรีนทั้งสองจำนวน จำเลยย่อมรู้เห็นเพราะอยู่ในวิสัยที่จำเลยสามารถค้นหาพบอย่างง่ายดาย เจ้าพนักงานตำรวจยังได้ยึดทรัพย์สินอย่างอื่นของจำเลยอีกจำนวนมาก อาทิ รถยนต์ 4 คัน นาฬิกาข้อมือฝังเพชร สร้อยคอทองคำฝังเพชร และแหวนทองคำ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าและราคาแพงตลอดทั้งมีสมุดฝากเงินของธนาคารถึง 5 แห่ง กับบันทึกข้อความสั่งให้จ่ายเงินนับสิบล้านบาทเก็บซุกซ่อนอยู่ในห้องพักคอนโดมิเนียมที่จำเลยเช่าอยู่กับภริยาลำพัง2 คน หรือรถยนต์ราคาแพงที่จอดไว้ที่ลานจอดรถ ทรัพย์สินเหล่านั้นทั้งหมดเมื่อมาเปรียบเทียบกับอาชีพการงานของจำเลยเกินกว่าฐานะตามที่ควรจะเป็น ส่อแสดงให้เห็นว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวมีพิรุธและไม่สุจริต พฤติการณ์ดังที่กล่าวมาเบื้องต้นและจากการสืบทราบของเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยมีการลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ย่อมมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนของกลางไว้เพื่อจำหน่าย โจทก์หาจำต้องมีประจักษ์พยานให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษมาก่อนเกิดเหตุไม่
โทรศัพท์เคลื่อนที่และวิทยุติดตามตัวของกลาง จำเลยได้นำมาใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารให้ได้รับผลในการกระทำความผิดนอกเหนือจากการใช้สื่อสารตามปกติธุระของจำเลย ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29,30 ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่และวิทยุติดตามตัวของกลางเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน1,140 เม็ด น้ำหนักสุทธิรวม 101.9 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 19.4 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 2 ถุงกับ 1 ซอง น้ำหนักสุทธิรวม 5,075 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 4,973 กรัม ซึ่งเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนดังกล่าวและอุปกรณ์การเสพยาเสพติด จำนวน 1 ชุด โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่อง วิทยุติดตามตัวโฟนลิงค์ จำนวน 1 เครื่อง กระเป๋าเดินทาง2 ใบ และทรัพย์สินอื่น ๆ อีกหลายรายการยึดเป็นของกลาง สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยุติดตามตัว อุปกรณ์การเสพยาเสพติดและกระเป๋าเดินทาง2 ใบ เป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด โทรศัพท์เคลื่อนที่วิทยุติดตามตัว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมาพร้อมกับคำฟ้องส่วนของกลางรายการอื่นเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15,66, 67, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30,31 กับริบเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขริบอุปกรณ์การเสพยาเสพติด กระเป๋าเดินทาง 2 ใบ ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียและวิทยุติดตามตัวโฟนลิงค์ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6829/2540 (ต่อมาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7880/2540) ของศาลชั้นต้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียและวิทยุติดตามตัวโฟนลิงค์ดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่น รวม 2 วัน ติดต่อกันแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เรียงกระทงลงโทษ ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายลงโทษจำคุก 22 ปี ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (อีเฟดรีน) ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและเพื่อขาย การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหมายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ลงโทษฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ ตามมาตรา 89จำคุก 20 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 42 ปี สำหรับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก 16 ปี 6 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลย 36 ปี 6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและริบกระเป๋าเดินทาง 2 ใบ โทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียและวิทยุติดตามตัวโฟนลิงค์ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7880/2540 ของศาลชั้นต้น สำหรับคำขอที่ให้ริบอุปกรณ์สำหรับเสพยาเสพติดนั้น เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาเสพยาเสพติด ดังนั้น ของกลางดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องไม่ชอบที่ศาลจะสั่งริบ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ร้อยตำรวจโทพนมพร เหล็กกล้า กับพวกได้ไปตรวจค้นห้องพักของจำเลยในอาคารดาวคะนองคอนโดมิเนียม แขวงบุคคโล เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร พบเมทแอมเฟตามีน 1,140 เม็ด และอีเฟดรีนน้ำหนัก5,075 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 4,973 กรัม อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและทรัพย์สินอื่น ๆ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีแสดงรายการของกลางแนบท้ายบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 จำเลยยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของจำเลยมีไว้เพื่อเสพปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่าเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางนั้น นอกจากจะบรรจุไว้ในซองพลาสติก ซึ่งมีลักษณะแบ่งแยกไว้จำเพาะแล้ว และยังมีจำนวนถึง 1,140 เม็ด มากเกินกว่าที่จำเลยจะนำมาเสพเองส่วนอีเฟดรีนก็มีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม ถือว่าเป็นจำนวนมากและยังเป็นวัตถุดิบที่ใช้สำหรับผลิตเมทแอมเฟตามีนอีกด้วย ของกลางทั้งสองรายการดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นของผิดกฎหมาย ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์จะนำไปใช้ในทางไม่สุจริต ไม่เป็นการสมควรที่จำเลยซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างหรือบุคคลทั่วไปจะนำมาเก็บไว้ในความครอบครอง โดยเฉพาะอีเฟดรีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้นั้นส่วนหนึ่งอยู่ในถุงพลาสติกซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสีดำสำหรับใช้สะพายรวมอยู่ด้วยกับอาวุธปืนของจำเลย จากโต๊ะเครื่องแป้งในห้องนอน และอีเฟดรีนอีกส่วนหนึ่งอยู่ในกล่องกระดาษบรรจุในถุงหิ้วได้มาจากโซฟานอกห้องนอน ดังนี้ อีเฟดรีนทั้งสองจำนวน จำเลยย่อมรู้เห็นเพราะอยู่ในวิสัยที่จำเลยสามารถค้นหาพบอย่างง่ายดาย ที่จำเลยปฏิเสธว่าอีเฟดรีนดังกล่าวจำเลยไม่รู้ว่ามาอยู่ในห้องพักของจำเลยได้อย่างไรนั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ทางนำสืบของโจทก์นอกจากเจ้าพนักงานตำรวจจะยึดวัตถุพยานทั้งสองรายการดังกล่าวนี้มาแล้วเจ้าพนักงานตำรวจยังได้ยึดทรัพย์สินอย่างอื่นของจำเลยอีกจำนวนมากอาทิ รถยนต์ 4 คัน นาฬิกาข้อมือฝังเพชร สร้อยคอทองคำฝังเพชร และแหวนทองคำ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าและราคาแพงตลอดทั้งมีสมุดฝากเงินของธนาคารถึง 5 แห่ง กับบันทึกข้อความสั่งให้จ่ายเงินนับสิบล้านบาทเก็บซุกซ่อนอยู่ในห้องพักคอนโดมิเนียมที่จำเลยเช่าอยู่กับภริยาลำพัง 2 คน หรือรถยนต์ราคาแพงที่จอดไว้ที่ลานจอดรถ ทรัพย์สินเหล่านั้นทั้งหมดเมื่อมาเปรียบเทียบกับอาชีพการงานของจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าอาชีพรับเหมาก่อสร้างของจำเลยมีที่ตั้งทำการเป็นหลักฐานมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นรูปบริษัทหรือส่วนตัวทรัพย์สินเหล่านั้นจึงมีเกินกว่าฐานะตามที่ควรจะเป็น ส่อแสดงให้เห็นว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวมีพิรุธและไม่สุจริต ทั้งได้ความจากคำเบิกความของภริยาจำเลยว่า ระหว่างอยู่กินกับจำเลยนั้นมักจะมีนายแขกเพื่อนของจำเลยมาหาจำเลยที่ห้องพักที่เกิดเหตุในเวลาหลังเที่ยงคืน นายแขกได้นำเงินมาให้จำเลยครั้งหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนแสนบาท พยานเคยสอบถามจำเลยว่าได้เงินมาจากไหนจำเลยบอกแก่พยานว่าได้เงินจากการคุมบ่อนการพนันที่จังหวัดกาญจนบุรี ดังนั้น พฤติการณ์ดังที่กล่าวมาเบื้องต้นและจากการสืบทราบของเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยมีการลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานของโจทก์จึงหาจำต้องมีประจักษ์พยานให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษมาก่อนเกิดเหตุแต่อย่างใดไม่ ย่อมมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนของกลางไว้เพื่อจำหน่าย
สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่และวิทยุติดตามตัวของกลางที่โจทก์ขอให้ริบนั้น เห็นว่า ตามลักษณะความผิดของจำเลยที่กล่าวมาประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางพร้อมเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนกับทรัพย์สินอื่น ๆ จากห้องพักที่เกิดเหตุได้ในคราวเดียวกัน จึงเชื่อได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่และวิทยุติดตามตัวจำเลยได้นำมาใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารให้ได้รับผลในการกระทำความผิดนอกเหนือจากการใช้สื่อสารตามปกติธุระของจำเลยด้วย ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29, 30
พิพากษายืน