คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน โดยมีเงื่อนไขระบุห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงบริเวณที่กันไว้เป็นบริการสาธารณะซึ่งมีขนาดและเนื้อที่ เกินกว่ามาตรฐานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ที่ดินส่วนที่กันไว้เป็นบริการ สาธารณะทั้งหมดจึงตกเป็นภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 หาใช่ตกเป็นภารจำยอมเฉพาะแต่ส่วนตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินพ.ศ. 2534 ข้อ 45 ไม่ จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงเนื้อที่ของบริการสาธารณะจากสวนพักผ่อนเป็นโรงเรียนอนุบาล แม้ บริการสาธารณะทั้งสองต่างเป็นสาธารณูปโภคแต่ก็เป็นสาธารณูปโภค คนละประเภทกัน การเปลี่ยนแปลงขนาดเนื้อที่ของสวนพักผ่อนจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้ว แม้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 17 จะให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการได้ แต่ต้องมิใช่การลดขนาด สาธารณูปโภคและการจัดสรรนั้นยังต้องดำเนินการอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 ได้จัดสรรที่ดินจำหน่ายไปหมดแล้ว จึงไม่สามารถขอเปลี่ยนแปลงแก้ไข แผนผังโครงการได้อีก อำนาจของคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2535 ข้อ 4 เป็นอำนาจที่อาจผ่อนผันให้แก่ผู้ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินบางราย หาใช่ว่าคณะกรรมการจะมีอำนาจอนุญาตให้ผู้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินรายใดผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ตามอำเภอใจอันเป็นการขัดต่อกฎหมายได้ มติของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงลดจำนวนพื้นที่สวนพักผ่อน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นกรรมการชุมชนหมู่บ้านสุขใจวิลเลจ และเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดสรรที่ดินที่นำโฉนดที่ดินเลขที่ 650และ 644 (บางส่วน) แขวงจรเข้บัว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครมาจัดสรรขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งตามแผนผังการจัดสรรที่ดินมีการกันที่ดินไว้เป็นที่บริการสาธารณะและสาธารณูปโภคซึ่งตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร แต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม2537 จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังการจัดสรรที่ดินโดยลดพื้นที่ที่กันไว้เป็นสวนพักผ่อนที่มีอยู่จำนวน1,240 ตารางวา ออกจำนวน 730 ตารางวา แล้วนำไปเพิ่มพื้นที่ที่กันไว้เป็นโรงเรียนอนุบาลสุขฤทัยของจำเลยที่ 11 ทำให้ที่ดินของโรงเรียนอนุบาลสุขฤทัยมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เดิมที่มีอยู่จำนวน680 ตารางวา อีก 730 ตารางวา ส่วนที่ดินสวนพักผ่อนมีเนื้อที่ลดลงเหลือเพียง 510 ตารางวา และเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 มีมติอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังดังกล่าวได้อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 สร้างบ้านตัวอย่างเป็นสถานที่ทำงาน ที่พักอาศัย และยังอนุญาตให้จำเลยที่ 11 สร้างรั้ว สนามเด็กเล่น กรงนก และทางคอนกรีต รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่สวนพักผ่อนส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังทำให้โจทก์ทั้งหกเสียหายไม่ได้ใช้ประโยชน์ในสวนพักผ่อน ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์2538 ที่อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภารจำยอมในสวนสาธารณะตามมติอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดสรรที่ดินปี 2529 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนบ้านตัวอย่างและให้จำเลยที่ 1 และที่ 11 รื้อถอนรั้ว กรงนก สนามเด็กเล่นทางคอนกรีต พร้อมขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท

จำเลยที่ 1 และที่ 11 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขออนุญาตจัดสรรที่ดินโดยกันที่ดินสำหรับสาธารณูปโภคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ มีเนื้อที่ของโรงเรียนอนุบาลจำนวน 680 ตารางวา สนามเด็กเล่น จำนวน 450 ตารางวาและสวนพักผ่อนจำนวน 1,240 ตารางวา ซึ่งตามกฎหมายจำเลยที่ 1จะต้องจัดให้มีเนื้อที่สนามเด็กเล่นเพียง 200 ตารางวาเท่านั้น ไม่จำต้องจัดให้มีสวนพักผ่อนก็ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดกฎหมายทั้งการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินมีมติอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 11 มีสิทธิปลูกสร้างในที่ดินพิพาทได้ ส่วนบ้านตัวอย่างนั้นจำเลยที่ 1 ต้องรื้อออกไปตามมติของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภารจำยอมที่สวนสาธารณะตามฟ้อง ฟ้องในส่วนการจดทะเบียนภารจำยอมเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 9 ให้การว่า มติของคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 17 ประกอบข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินพ.ศ. 2535 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 และที่ 10 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 ที่อนุญาตให้แก้ไขแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนบ้านตัวอย่างและให้จำเลยที่ 1 และที่ 11 รื้อถอนรั้ว กรงนก สนามเด็กเล่น ทางคอนกรีต พร้อมขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกไปจากสวนพักผ่อน คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 และที่ 11 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เดิมจำเลยที่ 1 ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินและคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินพิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่ 1ทำการจัดสรรที่ดินได้ตามเอกสารหมาย จ.23 โดยมีเงื่อนไขในข้อ 2.3 ว่าบริเวณที่กันไว้เป็นบริการสาธารณะขนาดและเนื้อที่เกินกว่ามาตรฐานตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ ห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเพื่อนำที่ดินบริเวณนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปอีกเป็นอันขาดซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รับทราบมติดังกล่าว คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2529 ตามใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเอกสารหมาย จ.24 อันเป็นการให้คำมั่นว่าพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นบริการสาธารณะนี้แม้จะมีเนื้อที่มากกว่าข้อกำหนดของคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเท่าใดก็ตาม จำเลยที่ 1 จะไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเด็ดขาด ที่ดินส่วนนี้จึงตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ดังนั้นจำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนแปลงขนาดและเนื้อที่ของสวนพักผ่อนตามแผนผังและโครงการดังกล่าวให้ลดน้อยลงจาก 1,240 ตารางวา เหลือเพียง510 ตารางวา โดยเอาพื้นที่สวนพักผ่อนจำนวน 730 ตารางวาไปเป็นพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลไม่ได้ แม้สวนพักผ่อนจะมีจำนวนเนื้อที่เกินกว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2535 ซึ่งต้องการเนื้อที่เพียง 476 ตารางวา ก็ตาม เพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 มิได้ระบุว่าเฉพาะสาธารณูปโภคซึ่งจำเป็นตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเท่านั้นที่ตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรแต่ระบุว่าสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตให้ถือว่าตกอยู่ในภารจำยอม แม้ว่าที่ดินส่วนนี้จะมากกว่าที่จำเป็นต้องกันไว้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเท่าใดก็ตาม ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รู้ดีอยู่แล้วว่าที่ดินที่กันไว้เป็นสวนพักผ่อนนั้นเกินกว่ามาตรฐานของข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ขอออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินสำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2535 ข้อ 45 ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 7 ถึงที่ 9 อ้างนั้นมีความหมายเพียงว่าในการจัดสรรที่ดิน ผู้จัดสรรที่ดินต้องกันพื้นที่ไว้ไม่น้อยกว่าที่กำหนดเท่านั้น จึงจะออกใบอนุญาตให้ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ฎีกาดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทุกคนที่ฎีกาดังกล่าวอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดของพื้นที่สวนพักผ่อนไปเพิ่มแก่โรงเรียนอนุบาลไม่ขัดต่อเอกสารหมาย จ.23 ข้อ 2.3 เพราะโรงเรียนอนุบาลกับสวนพักผ่อนต่างก็เป็นสาธารณูปโภคด้วยกัน การจัดการศึกษาเป็นประโยชน์สำคัญยิ่งและเป็นประโยชน์แก่ผู้ปกครองของนักเรียนนั้น เห็นว่า โรงเรียนอนุบาลกับสวนพักผ่อนเป็นสาธารณูปโภคคนละประเภทกัน โรงเรียนอนุบาลแม้จะเป็นประโยชน์สำคัญยิ่งต่อการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองของนักเรียน แต่ก็เฉพาะนักเรียนที่เรียนอยู่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น บุคคลภายนอกก็อาจส่งนักเรียนมาเรียนได้ ผู้อยู่อาศัยในที่ดินจัดสรรก็หาใช่ว่าจะต้องส่งบุตรหลานมาเรียนทุกคนไม่ ผิดกับสวนพักผ่อนซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคน ตลอดจนคนภายนอกก็อาจมาพักผ่อนได้ นอกจากนี้การจัดการดูแลก็ต่างกัน เมื่อสวนพักผ่อนเนื้อที่ลดลงจำเลยที่ 1 ก็ดูแลน้อยลง กรณีเช่นนี้จะว่าไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่กันไว้เป็นบริการสาธารณะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อย่างไรที่ฝ่ายจำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 มีอำนาจอนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังและโครงการได้และตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 ที่ให้สาธารณูปโภคตกเป็นภารจำยอมนั้น หมายถึงสาธารณูปโภคส่วนที่ไม่มีการแก้ไข มิฉะนั้นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 17 จะใช้ไม่ได้เลยนั้นเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 17 หมายความว่าหลังจากที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินแล้วแต่อยู่ในระหว่างทำการจัดสรรที่ดินตามที่ได้รับอนุญาต หากมีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแผนผังในโครงการเช่นรูปที่ดินการจัดจำหน่าย หรือเปลี่ยนแปลงโครงการดำเนินการจากการจัดสรร เช่น จากการปลูกบ้านเดี่ยวเป็นทาวน์เฮาส์ ฯลฯ เป็นต้น แต่ต้องมิใช่การลดขนาดสาธารณูปโภคในที่ดินที่จัดสรรที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว และการจัดสรรนั้นยังดำเนินการอยู่ ไม่ใช่การจัดจำหน่ายจนเสร็จสิ้นไปแล้ว ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ได้เสนอโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินโดยกำหนดในข้อ 9 กำหนดระยะเวลาดำเนินการและแล้วเสร็จว่าจะเริ่มดำเนินการตามโครงการต่อเนื่องเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จัดสรรที่ดินจำหน่ายไปหมดแล้ว ซึ่งประชาชนทั่วไปและโจทก์ทั้งหกก็ได้ซื้อไว้และได้จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านชุมชนหมู่บ้านสุขใจวิลเลจ แสดงว่าการจัดสรรได้เสร็จสิ้นจนพ้นเวลาที่จำเลยที่ 1 ระบุไว้ในโครงการแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะต้องขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้พยายามขอแก้ไขพื้นที่ส่วนที่บริการสาธารณะตลอดมาถึง 3 ครั้ง คือ ในปี 2531 ปี 2535 และ ปี 2538 ซึ่งในปี 2531 และปี 2535 คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินมีมติไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากการแก้ไขแผนผังโครงการทำให้บริการสาธารณะซึ่งตกเป็นภารจำยอมตามข้อ 30 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 มีเนื้อที่ลดลงตามรายงานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินครั้งที่ 17/2531 และครั้งที่ 44/2535 เอกสารหมาย จ.31 และจ.34แสดงว่าคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเห็นว่า การจัดสรรดังกล่าวได้จัดจำหน่ายไปแล้วจึงไม่อนุญาตให้แก้ไขแต่ในครั้งพิพาท จำเลยที่ 1 ขอแก้ไขตามเอกสารหมาย จ.38 คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน คือ จำเลยที่ 2 ถึง 10 กลับมีมติอนุญาตให้แก้ไขโดยอ้างว่ามีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2535 ข้อ 4 อนุญาตให้ทำได้เป็นการเฉพาะรายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2535 ข้อ 4 ที่ระบุว่า “ในกรณีคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินพิจารณาเห็นเป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงที่ตั้งของที่ดินจัดสรรและการผังเมืองคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินจะผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ให้แก่ผู้ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเป็นการเฉพาะรายก็ได้” ซึ่งหมายความว่า ปกติข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแผนผังโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ในการอนามัย การคมนาคม ความปลอดภัยและการผังเมืองรวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 และคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินจะพิจารณาออกใบอนุญาตหรือควบคุมการจัดสรรที่ดินให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว แต่คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินอาจผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ให้แก่ผู้ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินบางรายได้ไม่ใช่ว่าคณะกรรมการจะมีอำนาจอนุญาตให้ผู้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินรายใดผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ตามอำเภอใจอันเป็นการขัดต่อกฎหมาย สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้คำมั่นต่อคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินในปี 2529 ตามเอกสารหมายจ.23 ข้อ 2.3 ว่าบริเวณที่กันไว้เป็นบริการสาธารณะขนาดและเนื้อที่เกินกว่ามาตรฐานตามข้อกำหนดของคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเพื่อนำที่ดินบริเวณนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปอีกเป็นอันขาด ย่อมเป็นการสละสิทธิในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังและโครงการดังกล่าวในภายหลังและโครงการจัดสรรของจำเลยที่ 1 ก็ได้สร้างและจัดจำหน่ายเสร็จ แล้วสวนพักผ่อนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคเนื้อที่ 1,240 ตารางวา แม้จะเกินกว่าความจำเป็นตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินก็ย่อมเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 เสนอขอแก้ไขลดจำนวนพื้นที่สวนพักผ่อนลงเช่นนี้แสดงถึงความไม่สุจริตย่อมทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบโดยไม่เป็นธรรม การที่คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินคือจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 มีมติอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงลดจำนวนพื้นที่สวนพักผ่อนจึงขัดต่อกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินซึ่งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตได้ มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 และที่ 11 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share