คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ แม้เดิมจะเคยเข้าไปอันเป็นการถือวิสาสะทำให้ไม่เป็นความผิด แต่เมื่อโจทก์กับสามีไล่ให้ออกจากบ้าน จำเลยไม่ยอมออกลากตัวออกไปยังกลับเข้ามาอีก จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ส่วนในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 10 มิถุนายน 2537) จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์อีก โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์หรือสามีโจทก์อนุญาต จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 อีกกระทงหนึ่ง
ตามเอกสารการร้องทุกข์ได้ระบุข้อความว่า “และต่อมาในวันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 7.00 นาฬิกา จำเลยได้มาที่บ้านอีกครั้ง พร้อมกับได้พูดยืนยันตามที่ได้พูดเมื่อคืนเป็นความจริง”จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์เกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในวันที่ 10 มิถุนายน 2537 แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องระบุถึงมาตราความผิดแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91, 362, 364, 365, 393

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365(3), 393 เป็นการกระทำหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานบุกรุกเคหสถาน จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน จำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า จำคุก1 เดือน ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ประกอบด้วยมาตรา 364 จำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 22.30 นาฬิกาจำเลยมากดกริ่งเรียกที่หน้าบ้าน สามีโจทก์ออกไปเปิดประตูรั้วถามว่ามีธุระอะไร จำเลยเดินเข้ามาในรั้วบ้านลักษณะคล้ายคนเมาสุรายืนโอนเอน จำเลยร้องไห้และใช้มือตบหน้าตัวเอง พร้อมกับพูดว่า”ได้ยินครูที่โรงเรียนพูดว่าโจทก์กับจำเลยได้เสียกันแล้ว” โจทก์ตกใจจึงตะคอกถามจำเลยว่าให้พูดอีกครั้งและพูดช้า ๆ จำเลยก็พูดว่า “ได้ยินครูที่โรงเรียนพูดว่าโจทก์กับจำเลยได้เสียกันแล้ว” จำเลยพูดด้วยเสียอันดัง สามีโจทก์จึงพูดว่าจำเลยเมาแล้วให้กลับบ้านไปแต่จำเลยไม่เชื่อฟังยังคงนั่งร้องไห้และใช้มือตบหน้าตัวเองพูดถ้อยคำดังกล่าวซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้ง โจทก์กับสามีไล่จำเลยออกจากบ้าน แต่จำเลยไม่ยอมไปและยังพูดว่า “รักโจทก์จริง” โจทก์กับสามีช่วยกันลากจำเลยออกไปจากบ้าน จำเลยไปยืนเกาะประตูรั้วบ้านและพูดเรื่องเดิมขณะนั้นที่บ้านโจทก์มีนายไกรธวัช มุสิกชาติ อยู่ด้วยรุ่งขึ้นวันที่10 มิถุนายน 2537 เวลา 7 นาฬิกา จำเลยเดินเข้ามานั่งในบ้านโจทก์ตกใจถามว่ามาทำไม จำเลยพูดว่า “เมื่อคืนนี้ที่มาหาและที่พูดไปนั้นเป็นเรื่องจริง” โจทก์ไล่จำเลยออกจากบ้าน แล้วไปสอบถามข้อเท็จจริงจากนายณรงค์ รัญเสวะ ภารโรงและนายอาจินต์เกื้อสกุล อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนที่โจทก์และจำเลยรับราชการอยู่นายอาจินต์รับจะไกล่เกลี่ยให้ โดยโจทก์มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องเขียนคำกล่าวขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วอ่านให้ครูทุกคนในโรงเรียนฟัง นายอาจินต์แจ้งว่าจำเลยตกลงแต่ต่อมาแจ้งว่าเงื่อนไขของสามีโจทก์ที่ให้เอาหวายมีหนามรูดปากจำเลยตกลงไม่ได้โจทก์จึงไปแจ้งความดำเนินคดีตามเอกสารหมาย จ.2 เห็นว่านอกจากตัวโจทก์แล้ว พยานโจทก์ยังมีนายสุรพินสามีโจทก์ และนายไกรธวัช อยู่ด้วยในขณะเกิดเหตุ พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายไกรธวัชเป็นบุคคลภายนอกขณะเกิดเหตุไปเก็บเงินค่าซ่อมรถจากสามีโจทก์และยืนอยู่ห่างไม่เกิน3 เมตร ว่าได้ยินถ้อยคำที่จำเลยพูดว่าได้เสียกับโจทก์จำเลยพูดด้วยเสียงเอะอะโวยวายพูดด้วยคำหยาบคายและพูดนานประมาณครึ่งชั่วโมงนอกจากนั้นยังว่ามีการลากให้จำเลยออกไปจากบ้านแต่จำเลยเดินกลับเข้ามาอีกเป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง ในตอนท้ายโจทก์กับสามีนำจำเลยออกไปนอกรั้วบ้านแต่จำเลยยังคงเกาะประตูรั้วพูดเรื่องเดิมอยู่ ซึ่งนอกจากคำพยานโจทก์ทั้งสามปากแล้วร้อยตำรวจเอกเจริญ โปนกแก้วพนักงานสอบสวนเบิกความรับว่าได้รับแจ้งความร้องทุกข์และสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 ป.จ.1 และ ป.จ.6พร้อมทั้งเห็นว่าคดีมีมูลสั่งฟ้องคดี เมื่อพิจารณาคำพยานโจทก์ประกอบเอกสารต่าง ๆ ในชั้นสอบสวนแล้วเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริง พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ แม้เดิมจะเคยเข้าไปอันเป็นการถือวิสาสะทำให้ไม่เป็นความผิดก็ตามแต่เมื่อโจทก์กับสามีไล่ให้ออกจากบ้านจำเลยไม่ยอมออก ลากตัวออกไปยังกลับเข้ามาอีกจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ส่วนในวันรุ่งขึ้น(วันที่ 10 มิถุนายน 2537) จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์อีก โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์หรือสามีโจทก์อนุญาต จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 อีกกรรมหนึ่ง ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่าความผิดฐานบุกรุกในเคหสถานในวันที่10 มิถุนายน 2537 นั้น โจทก์แจ้งความร้องทุกข์แล้วหรือไม่ เห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.2 ได้ระบุข้อความว่า “และต่อมาในวันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 7.00 นาฬิกา จำเลยได้มาที่บ้านอีกครั้ง พร้อมกับได้พูดยืนยันตามที่ได้พูดเมื่อคืนเป็นความจริง” จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์เกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในวันที่10 มิถุนายน 2537 แล้วโดยโจทก์ไม่จำต้องระบุถึงบทมาตราความผิดแต่ประการใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดส่วนนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 อีกบทหนึ่ง ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นด้วยแล้วเป็นจำคุก 2 ปี และปรับ 7,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share