คำวินิจฉัยที่ 91/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ประกอบกิจการโทรศัพท์ได้ทำสัญญาเช่าระบบและอุปกรณ์สำหรับการขยายโครงข่าย IP Network ด้วยเทคโนโลยี Optical IP Network และระบบอุปกรณ์พร้อม Software Electronic Billing System จากโจทก์ซึ่งเป็นเอกชน เพื่อให้บริการ IP Telephony และ Remote Access (Internet) แก่ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานของจำเลยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้ใช้บริการในอัตราค่าบริการที่ถูกลง จึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาเช่าระบบและอุปกรณ์ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๑/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๔ บริษัทเพชราวุธ เทคโนโลยี จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๔๔๑/๒๕๕๔ ความว่า จำเลยทำสัญญาเช่าระบบและอุปกรณ์สำหรับการขยายโครงข่าย IP Network ด้วยเทคโนโลยี Optical IP Network และระบบอุปกรณ์พร้อม Software Electronic Billing System จากโจทก์ เพื่อให้บริการ IP Telephony และ Remote Access (Internet) โดยโจทก์มอบหนังสือค้ำประกันธนาคารให้แก่จำเลยเป็นหลักประกัน และสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่คืนระบบและอุปกรณ์ที่เช่าพร้อมหลักประกันและออกหนังสือรับรองผลงานให้แก่โจทก์ โดยโจทก์มีหน้าที่รื้อถอนระบบและอุปกรณ์ที่เช่าภายใน ๓๐ วัน แต่โจทก์ไม่สามารถรื้อถอนออกไปได้เพราะจำเลยยังให้บุคคลอื่นเช่าอยู่ อีกทั้งระบบและอุปกรณ์บางรายการสูญหาย นอกจากนี้จำเลยยังโยกย้ายระบบและอุปกรณ์จนโจทก์ไม่สามารถตรวจสอบและเข้าไปในสถานที่ของจำเลยได้ การที่จำเลยยังใช้ประโยชน์จากระบบและอุปกรณ์ที่เช่าอยู่ ไม่คืนให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน ๓๑๒,๐๒๑,๘๑๓.๙๖ บาท และให้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าทั้งหมดคืน หากไม่สามารถคืนได้ให้ชดใช้ราคาหรือหาทรัพย์มาใช้แทน ให้ส่งมอบหนังสือค้ำประกัน และออกหนังสือรับรองผลงานให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีภารกิจในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมและเช่าระบบกับอุปกรณ์จากโจทก์เพื่อใช้จัดทำโครงข่ายทำให้อัตราค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานถูกลง ภายหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีภาระผูกพันหรือความรับผิดชอบต่อทรัพย์ที่เช่า เพียงแต่อำนวยความสะดวกให้โจทก์นำทรัพย์ที่เช่าคืนไปเท่านั้น ทรัพย์ที่เช่ายังอยู่ครบถ้วน จำเลยย้ายผู้ใช้งานไปให้บริการในโครงข่ายอื่นแล้วและไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าอีกต่อไป จึงไม่ได้ผิดสัญญา และเมื่อโจทก์ยังนำทรัพย์ที่เช่ากลับคืนไปไม่แล้วเสร็จจึงยังมีภาระผูกพันตามสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิยึดหนังสือค้ำประกันไว้เป็นหลักประกันจนกว่าโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนและไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองผลงานให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ยังรื้อถอนทรัพย์ที่เช่าไม่แล้วเสร็จ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งคือจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากภายหลังสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าจึงใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ที่ให้เช่าคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ แต่ไม่สามารถเข้าไปรื้อระบบและอุปกรณ์ที่เช่าคืนได้ ประเด็นแห่งคดีเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการรื้อถอนระบบและอุปกรณ์ตามสัญญาเช่าคืน อันเกิดจากการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยขัดขวางและไม่ให้ความร่วมมือให้โจทก์เข้าไปรื้อถอนระบบและอุปกรณ์ที่เช่าคืน กรณีจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง หาใช่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าไม่ สำหรับที่โจทก์เรียกค่าเสียหายกรณีไม่สามารถนำระบบและอุปกรณ์ดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าหรือจำหน่ายโดยคิดค่าเช่าไม่น้อยกว่าอัตราค่าเช่าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตามสัญญาเช่า เป็นการคิดค่าเสียหายโดยใช้ฐานการคิดตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยในการคำนวณเท่านั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ เป็นคดีพิพาทในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งแปรรูปและรับโอนกิจการมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ประกอบกิจการโทรศัพท์ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองในกิจการโทรคมนาคม จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยร่วมกับโจทก์ในการจัดทำบริการสาธารณะ (Internet) ให้แก่ประชาชน จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ศาลจะพิพากษาว่าฝ่ายใดจะต้องรับผิดตามฟ้องในการรื้อระบบและอุปกรณ์ คืนหนังสือค้ำประกัน และชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ นั้น ศาลจะต้องพิจารณาตามสัญญาเช่า ถึงแม้ว่าสัญญาเช่าดังกล่าวจะได้สิ้นสุดลงแล้ว คดีนี้กรณีพิพาทที่แท้จริงจึงเกี่ยวกับสัญญาเช่าดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ไม่ใช่กรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทว่าเป็นของใคร และโจทก์มีสิทธิในการติดตามเอาคืนหรือไม่ ทั้งในคำฟ้องโจทก์ก็อ้างสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นทั้งที่มาของสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณีตามสัญญา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าระบบและอุปกรณ์สำหรับการขยายโครงข่าย IP Network ด้วยเทคโนโลยี Optical IP Network และระบบอุปกรณ์พร้อม Software Electronic Billing System จากโจทก์ เพื่อให้บริการ IP Telephony และ Remote Access (Internet) ครั้นสัญญาเช่าสิ้นสุดจำเลยไม่ยอมคืนระบบและอุปกรณ์ที่เช่าพร้อมหลักประกันและออกหนังสือรับรองผลงานให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ให้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าทั้งหมดคืน หากไม่สามารถคืนได้ให้ชดใช้ราคาหรือหาทรัพย์มาใช้แทน ให้ส่งมอบหนังสือค้ำประกัน และออกหนังสือรับรองผลงานให้แก่โจทก์ จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาเช่าระบบและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งแปรรูปและรับโอนกิจการมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ประกอบกิจการโทรศัพท์ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าระบบและอุปกรณ์สำหรับการขยายโครงข่าย IP Network ด้วยเทคโนโลยี Optical IP Network และระบบอุปกรณ์พร้อม Software Electronic Billing System จากโจทก์ เพื่อให้บริการ IP Telephony และ Remote Access (Internet) แก่ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานของจำเลยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้ใช้บริการในอัตราค่าบริการที่ถูกลง จึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาเช่าระบบและอุปกรณ์ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทเพชราวุธ เทคโนโลยี จำกัด โจทก์ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share