คำวินิจฉัยที่ 94/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้กรมที่ดิน จำเลยที่ ๒ แก้ไขรูปแผนที่ที่ดินของโจทก์ให้ถูกต้องตามจริง และยกคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของนายอำเภอ จำเลยที่ ๑ ซึ่งคัดค้านการรังวัดที่ของโจทก์ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีมูลคดีเดียวกันกับที่เคยฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๕๕/๒๕๔๙ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อันเป็นการขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มูลความแห่งคดีนี้เกี่ยวพันกับคดีเดิมที่โจทก์ได้เคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลปกครอง

ย่อยาว

สำเนา

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๔/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ นางมุกดา วงศ์วณิชย์รัตน์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายอำเภอพนมสารคาม ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๙๒/๒๕๕๔ ความว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้านทิศตะวันออกติดกับหนองพวนหรือหนองพานหรือหนองพรวน ต่อมาทางราชการรังวัดสอบเขตและทำถนนตัดผ่านบริเวณหนองดังกล่าว โดยตัดผ่านที่ดินของโจทก์ ซึ่งโจทก์มิได้หวงห้าม ในปี ๒๕๓๗ โจทก์ยื่นรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ และได้รับโฉนดที่ดินใหม่เป็นโฉนดเลขที่ ๒๙๔๕๐ ในการรังวัดดังกล่าวปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่มากกว่าที่ระบุในโฉนด โจทก์จึงสละที่ดินบริเวณที่ถนนตัดผ่านรอบหนองพวนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และได้ล้อมรั้วพร้อมทั้งปลูกต้นไม้ในที่ดิน ต่อมาปี ๒๕๕๐ โจทก์ตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ทำรูปแผนที่ที่ดินของโจทก์ไม่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์รอบหนองพวนซึ่งไม่ถูกต้อง จึงยื่นให้รังวัดใหม่ แต่ปลัดอำเภอพนมสารคามซึ่งรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ คัดค้านโดยอ้างว่าที่ดินบริเวณที่โจทก์ล้อมรั้วเป็นที่สาธารณประโยชน์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ จึงงดการรังวัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาให้ที่บริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขรูปแผนที่ให้ถูกต้องตามจริง และยกคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เพราะโจทก์เคยฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม จึงไม่มีหน้าที่ต้องแก้ไขรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๑๔ และศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๕๕/๒๕๔๙ แม้โจทก์จะไม่เคยฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีปกครอง แต่คดีนี้เป็นคดีที่มีมูลคดีเดียวกันกับที่โจทก์เคยฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นในคดีนี้เป็นการโต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินตรงบริเวณที่พิพาทคือบริเวณที่โจทก์ล้อมรั้วเป็นที่ดินของโจทก์หรือที่ดินสาธารณประโยชน์ การที่ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดที่ดิน และเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ไม่ทำการรังวัด เนื่องจากเข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ ๒ ทำรูปแผนที่ที่ดินของโจทก์ไม่ถูกต้อง โดยโจทก์มีคำขอให้ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขรูปแผนที่ที่ดินของโจทก์ให้ถูกต้อง อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้โจทก์ยกประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้นโต้แย้งก็ตาม แต่การที่โจทก์เห็นว่าการคัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ไม่ทำการรังวัด โดยมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำคัดค้านการรังวัดของจำเลยที่ ๑ ประเด็นแห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามหน้าที่โดยการแก้ไขรูปแผนที่ที่ดินให้ถูกต้อง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนี้ปรากฏว่า เมื่อปี ๒๕๔๕ โจทก์ได้นำกรณีพิพาทที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้มาฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม ต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การรังวัดสอบเขตที่ดิน การแก้ไขรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๑๔ และการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๔๕๐ รวมทั้งการแบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่มีหน้าที่ต้องแก้ไขโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๕๕/๒๕๔๙ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีเดิมที่ศาลปกครองได้เคยพิจารณาวินิจฉัยไว้แล้ว หากศาลยุติธรรมพิจารณาคดีนี้ อาจเกิดกรณีคำพิพากษาขัดกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ อ้างว่าเดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ ด้านทิศตะวันออกติดกับหนองพวน เมื่อโจทก์ยื่นรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ และได้รับโฉนดที่ดินใหม่เป็นโฉนดเลขที่ ๒๙๔๕๐ ปรากฏว่าที่ดิน มีเนื้อที่มากกว่าที่ระบุในโฉนด ซึ่งโจทก์สละที่ดินบริเวณที่ถนนตัดผ่านรอบหนองพวนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และได้ล้อมรั้วพร้อมทั้งปลูกต้นไม้ในที่ดิน ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ทำรูปแผนที่ที่ดินของโจทก์ไม่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์รอบหนองพวน จึงยื่นให้รังวัดใหม่ แต่ปลัดอำเภอพนมสารคามซึ่งรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ คัดค้านโดยอ้างว่า ที่ดินบริเวณที่โจทก์ล้อมรั้วเป็นที่สาธารณประโยชน์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ จึงงดการรังวัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ที่บริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขรูปแผนที่ที่ดินของโจทก์ให้ถูกต้องตามจริง และยกคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีมูลคดีเดียวกันกับที่เคยฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม ต่อศาลปกครองกลาง โดยศาลวินิจฉัยว่าการแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาพนมสารคาม จึงไม่มีหน้าที่ต้องแก้ไขรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ในโฉนดเลขที่ ๔๑๑๔ และศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๕๕/๒๕๔๙ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อันเป็นการขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มูลความแห่งคดีนี้เกี่ยวพันกับคดีเดิมที่โจทก์ได้เคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางมุกดา วงศ์วณิชย์รัตน์ โจทก์ นายอำเภอพนมสารคาม ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share