คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ถูกยึดและได้ทำ สัญญายกให้แก่ผู้ร้องแต่การยกให้ซึ่งที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525ประกอบกับมาตรา 456 จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อปรากฏว่ายังไม่ได้มีการจดทะเบียนการยกให้ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้สั่งปล่อยที่ดินพิพาท

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 54,025.09 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9547 เพื่อนำออกขายทอดตลาด

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียว เมื่อผู้ร้องหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองอยู่กับธนาคารให้แก่ผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนองและขอโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของผู้ร้องแล้วแต่มีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องจึงไถ่ถอนจำนองโดยให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการยึดที่ดินพิพาท

โจทก์ยื่นคำให้การว่า การยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่สมบูรณ์ ผู้ร้องไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึด ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์สินที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดไว้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 นั้น ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่า ทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่กรณีตามคำร้องขอ แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ถูกยึดจะได้ทำสัญญายกให้แก่ผู้ร้องมาก่อนแล้วก็ตาม แต่การยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทอันเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 บัญญัติไว้ว่า “การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” และมาตรา 456 บัญญัติว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่า เป็นโมฆะ” กรณีตามคำร้องของผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นการได้ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องถือปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเมื่อคดีปรากฏว่า ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ กรณีไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของมาตรา 1299 หรือตามมาตรา 1300 ตามที่ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง

พิพากษายืน

Share