คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3415/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่า กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานจะนำเหตุที่จำเลยได้สอบสวนข้อเท็จจริงและตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์มาเป็นข้อพิจารณาหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ และโจทก์ที่ 4 ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ได้ปกปิดช่วยเหลือผู้กระทำผิด ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยในกรณีร้ายแรงตามที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นเหตุเลิกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 ให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปตามเดิมได้ แต่ถ้าเห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ด้วยดี ศาลแรงงานก็มีอำนาจสั่งไม่ให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแทนตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสียหายที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องพิจารณาสั่งตามข้อเท็จจริงในสำนวน ส่วนค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ และเงินโบนัส นับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานจะพิจารณาเฉพาะในกรณีที่มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมเท่านั้น เมื่อปรากฎว่าศาลแรงงานยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจะให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 และที่ 4 กลับเข้าทำงาน หรือจะให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานพิจารณาในปัญหาดังกล่าวต่อไป
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 4 ที่ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ที่ 4 ไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าว และศาลแรงงานก็ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรม หากมีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมศาลแรงงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้างหรือ จะสั่งให้นายจ้างใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างแทนการรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ได้ บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหรือกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของนายจ้างแต่อย่างใดไม่ โจทก์ที่ 4 จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย
โจทก์ที่ 1 และที่ 4 มีคำขอบังคับในฟ้องเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ไม่เป็นธรรม ให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 และที่ 4กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 กับจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1และที่ 4 ดังนั้นถ้าศาลแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 และที่ 4 กลับเข้าทำงานแล้ว คำขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จย่อมตกไป
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 2

ย่อยาว



Share