แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามรายงานการประชุมมีลักษณะเป็นการรับรองหรือให้ความเห็นชอบต่อการกระทำของกรรมการที่ได้กระทำไปในรอบปีที่ผ่านมาและมีอำนาจที่จะลงมติเช่นนั้นได้ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นยกเลิกความรับผิดชอบของกรรมการที่ได้กระทำไปโดยชอบที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้ลงมติปลดหรือยกเลิกการกระทำของกรรมการที่ได้กระทำความผิดหรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่1แต่อย่างใดและไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ22บัญญัติห้ามมิให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นลงมติเช่นนี้ได้การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของบริษัทจำเลยที่1ลงมติเช่นนี้จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1195
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 11/1991 วาระที่ 3 เรื่องการปลดความรับผิดของคณะกรรมการบริหารขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องหุ้นส่วนบริษัท มาตรา 1167 ประกอบกับมาตรา 812มาตรา 1168 และมาตรา 1169 และขัดต่อมาตรา 76และกฎหมายในเรื่องละเมิด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจที่จะกระทำได้มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามติของที่ประชุม ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และเพราะเหตุใด การที่โจทก์จะใช้สิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 โจทก์จะต้องกล่าวอ้างว่าการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะ 22 ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอน จำเลยที่ 2 ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นในนามของคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นการเรียกประชุมใหญ่โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 1171 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 2ให้ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว ทั้งมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้เพราะการลงมติปลดความรับผิดของคณะกรรมการบริหารถือเป็นการให้อนุมัติแก่การใด ๆ ซึ่งคณะกรรมการบริหารได้กระทำตอลดปีบัญชีที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยนัยแห่งมาตรา 1170 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่ขัดกับมาตรา 1167, 1168และ 1169 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 11/1991(2534) ของบริษัทจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ส่งศาลตามหมายเรียกและโจทก์แถลงรับรองว่าเป็นรายงานการประชุมที่ขอให้ศาลเรียกมา ตามรายงานการประชุมดังกล่าวข้อ 7 มีความว่า “การยกเลิกคณะกรรมการนายโทมัส พิทเชอร์ ประธานในที่ประชุมอธิบายหลักบัญญัติทั่วไปของบริษัทฯ ในการยกเลิกความรับผิดชอบของกรรมการต่อธุรกิจในช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ ดร.ปรีดี คัดค้านและพูดว่า”ศาลไม่รับรอง” ดร.ปรีดี เสนอให้จัดหาความเห็นทางกฎหมายพร้อมทั้งเหตุผลมาแนบในรายงานการประชุม นายไฮโค ฮาดเลอร์เสนอบัญญัติให้ยกเลิกความรับผิดชอบของกรรมการซึ่งได้ปฏิบัติงานภายในระหว่างปี จนถึงปัจจุบัน ญัตติได้รับการอนุมัติโดยเสียงส่วนมาก โดยคุณวิเชียรและดร.ปรีดี ออกเสียงคัดค้าน”เห็นว่า ตามรายงานประชุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการรับรอง หรือให้ความเห็นชอบต่อการกระทำของกรรมการที่ได้กระทำไปในรอบปีที่ผ่านมา และยกเลิกความรับผิดชอบของกรรมการที่ได้กระทำไปโดยชอบ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีอำนาจที่จะลงมติเช่นนั้นได้ ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้ลงมติปลดหรือยกเลิกการกระทำของกรรมการที่ได้กระทำความผิดหรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1แต่อย่างใด และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 บัญญัติห้ามมิให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นลงมติเช่นนี้ได้ การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของบริษัทจำเลยที่ 1 ลงมติดังกล่าว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังที่โจทก์ฟ้อง กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือร้อง ขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 11/1991(2534) ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
พิพากษายืน