คำวินิจฉัยที่ 88/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่หน่วยงานทางปกครองว่าจ้างเอกชนให้ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านอันเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อเอกชนโอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หน่วยงานทางปกครองไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงฟ้องบังคับให้ร่วมกันชำระค่าจ้าง เห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๘/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดนราธิวาส
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนราธิวาสโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ นางสาวณัฐธยาน์ วัฒนธรนันท์ โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลรือเสาะออก ที่ ๑ บริษัทธนกุลนิติพัฒน์ จำกัด ที่ ๒ จำเลย และยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส ที่ ๑ บริษัทธนกุลนิติพัฒน์ จำกัด ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๔๗/๒๕๕๔ และที่ ๔๔๘/๒๕๕๔ ตามลำดับ ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสสั่งรวมการพิจารณา โดยให้เรียกองค์การบริหารส่วนตำบลรือเสาะออก ว่า จำเลยที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส ว่า จำเลยที่ ๒ และบริษัทธนกุลนิติพัฒน์ จำกัด ว่า จำเลยที่ ๓ ความว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่างทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๓ ให้ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ต่อมาจำเลยที่ ๓ ทำข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ความยินยอมแล้ว อันเป็นการรับสภาพหนี้ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำผิดข้อตกลงไม่จ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ กลับจ่ายให้แก่จำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงิน ๒,๕๑๓,๗๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน ๑,๙๑๕,๒๘๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้บังคับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงิน ๑,๖๕๔,๑๘๔.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน ๓๕๖,๗๕๒ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เคยทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ ๓ ร่วมลงทุนรับเหมาก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ โอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ ตกลงกันว่าโจทก์จะเก็บไว้เท่ากับเงินลงทุนจำนวนร้อยละ ๑๕ ส่วนที่เหลือต้องคืนให้แก่จำเลยที่ ๓ โจทก์รับเงินลงทุนของโจทก์ไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ จากจำเลยที่ ๓ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนราธิวาสพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เป็นการว่าจ้างให้ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่างร่วมกับจำเลยที่ ๓ ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น โจทก์อาศัยสิทธิในฐานะที่เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ ๓ ตามข้อตกลงการโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ ๓ ทำไว้กับโจทก์ แม้จะฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองร่วมรับผิดด้วย แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างสิทธิตามข้อตกลงการโอนสิทธิเรียกร้องว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปฏิบัติผิดข้อตกลง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์มิได้อ้างสิทธิในฐานะคู่สัญญาและมิได้ขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้าง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้าง การวินิจฉัยชี้ขาดคดีจึงไม่จำต้องพิจารณาสัญญาจ้างดังกล่าว แม้สิทธิตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์จะมีที่มาจากสัญญาจ้าง แต่เห็นได้ชัดว่ามิได้มีเนื้อหาข้อพิพาทเกี่ยวด้วยเรื่องสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองโดยตรง จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการว่าจ้างให้ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน สัญญาดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นสัญญาทางปกครอง แม้มูลคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่ข้อพิพาทโดยตรงจากสัญญาจ้างก็ตาม แต่ข้ออ้างตามฟ้องโจทก์ก็เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ตามสัญญาจ้าง การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๘/๒๕๔๘

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
คดีนี้ เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๓ ให้ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน อันถือได้ว่าเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง แล้วจำเลยที่ ๓ ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ทำข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทราบแล้วแต่ไม่ชำระ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวณัฐธยาน์ วัฒนธรนันท์ โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลรือเสาะออก ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส ที่ ๒ บริษัทธนกุลนิติพัฒน์ จำกัด ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share