คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10057/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการดำเนินกระบวนการของอนุญาโตตุลาการนี้ เป็นอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ซึ่งมีข้อบังคับสมาคมประกันวินาศภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการข้อ 22 ว่า “อนุญาโตตุลาการต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามหลักกฎหมายและความยุติธรรม และบันทึกข้อตกลงต่างๆ ที่คู่พิพาทมีต่อกัน” ดังนั้น อนุญาโตตุลาการจึงต้องชี้ขาดไปตามข้อบังคับดังกล่าว เมื่อคู่ความตกลงให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยอนุโลมตามคำวินิจฉัยของศาล อนุญาโตตุลาการจึงต้องผูกพันวินิจฉัยไปตามคำวินิจฉัยของศาลตามที่คู่ความตกลงกัน ซึ่งแม้ตามรายงานลงวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จะไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของศาลนั้นต้องถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คำพิพากษาของศาลต่างชั้นกันมีผลแตกต่างกันนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่า การที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยถือตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งยังไม่ถึงที่สุด จึงอาจขัดต่อผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาที่เป็นศาลสูงกว่า และตามกฎหมายกำหนดให้เป็นคำพิพากษาที่จะต้องถือตาม จึงย่อมต้องแปลความตามความมุ่งหมายหรือเจตนาอันแท้จริงของคู่ความว่าคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวหมายถึงคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดแล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลล่างที่อาจไม่มีผลให้ถือตาม จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิได้เป็นไปตามที่คู่ความได้ตกลงกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ศาล ทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (5)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงิน 549,596 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าธรรมเนียม 5,000 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คือ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 549,596 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าธรรมเนียมในชั้นอนุญาโตตุลาการแทนผู้ร้อง 5,000 บาท และให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า กรณีมีเหตุอันควรยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ โดยข้อพิพาทในคดีนี้คู่ความได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการคู่ความตกลงกันตามรายงานลงวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ว่า “คดีแพ่งที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ดังที่ระบุไว้ในรายงานวันที่ 8 ตุลาคม 2542 นั้น จนบัดนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันว่าสำหรับประเด็นที่ 1 (หมายถึงประเด็นพิพาทว่า เหตุเรื่องนี้เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่คู่กรณีรับประกันภัยไว้หรือไม่) นั้น ขอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยอนุโลมตามคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นนี้” ต่อมาศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาว่าเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่ผู้คัดค้านรับประกันภัย แต่คดียังไม่ถึงที่สุดเพราะคู่ความยื่นอุทธรณ์ ต่อมาอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านรับผิดในค่าเสียหายโดยมิได้รอให้ผลคดีถึงที่สุด นั้น เห็นว่า ในการดำเนินกระบวนการของอนุญาโตตุลาการนี้ เป็นอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัยซึ่งมีข้อบังคับสมาคมประกันวินาศภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ข้อ 22 ว่า “อนุญาโตตุลาการต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามหลักกฎหมายและความยุติธรรม และบันทึกข้อตกลงต่าง ๆ ที่คู่พิพาทมีต่อกัน” ดังนั้น อนุญาโตตุลาการจึงต้องชี้ขาดไปตามข้อบังคับดังกล่าว เมื่อคู่ความตกลงให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยอนุโลมตามคำวินิจฉัยของศาล อนุญาโตตุลาการจึงต้องผูกพันวินิจฉัยไปตามคำวินิจฉัยของศาลตามที่คู่ความตกลงกัน ซึ่งแม้ตามรายงานลงวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จะไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของศาลนั้นต้องถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คำพิพากษาของศาลต่างชั้นกันมีผลแตกต่างกันนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่า การที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยถือตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งยังไม่ถึงที่สุด จึงอาจขัดต่อผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาที่เป็นศาลสูงกว่า และตามกฎหมายกำหนดให้เป็นคำพิพากษาที่จะต้องถือตาม จึงย่อมต้องแปลความตามความมุ่งหมายหรือเจตนาอันแท้จริงของคู่ความว่า คำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวหมายถึง คำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดแล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลล่างที่อาจไม่มีผลให้ถือตาม จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิได้เป็นไปตามที่คู่ความได้ตกลงกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (5) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น
อนึ่ง ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีด้วย เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งเรื่องคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีอีกต่อไป
พิพากษากลับ .ให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท

Share