คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ไม่ดำเนินการสืบหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ และแถลงต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 เดือน โดยปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ แม้โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ โจทก์สามารถสื่อสารกับศาลชั้นต้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1
เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่ากับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดมากไปกว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่โจทก์เนื่องจากเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 793,153 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 789,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 215,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสามใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เนื่องจากบ้านรื้อถอนและศาลได้มีคำสั่งให้ส่งหมายแจ้งคำสั่งให้โจทก์ว่าให้มาดำเนินการแถลงที่อยู่และส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ภายใน 15 วัน บัดนี้ล่วงพ้นระยะเวลาแล้วโจทก์ไม่ได้มาดำเนินการแต่ประการใด จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าให้โจทก์แถลงที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และส่งหมายนัดสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่ง หากไม่ดำเนินการถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์ หมายแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเป็นหมายของศาล การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้วันที่ 8 กันยายน 2554 โจทก์ยื่นคำร้องว่าขอสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลได้โปรดอนุญาตให้ขยายระยะเวลาแถลงที่อยู่เพื่อส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตให้โจทก์แถลงที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ได้ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการแต่อย่างใด จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2554 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อผู้พิพากษาว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แถลงหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ใหม่จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 บัดนี้ล่วงพ้นระยะเวลาแล้วโจทก์ไม่มาดำเนินการแต่ประการใด จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าโจทก์ทิ้งฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว และมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 โจทก์ฎีกาว่าเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยที่ร้ายแรงเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งรวมทั้งที่ตั้งศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและบ้านพักของโจทก์ถูกน้ำท่วมขังสูงอย่างมากจนกระทั่งรัฐบาลประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ โจทก์เองต้องย้ายไปอาศัยบ้านญาติที่จังหวัดอื่นและไม่สามารถกลับเข้ามายังบ้านพักอาศัยของตนเองได้ แต่เมื่อทันทีที่โจทก์สามารถกลับเข้ามายังที่พักอาศัยได้ก็เร่งรีบที่จะเดินทางไปเพื่อดำเนินการติดต่อกับศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการแถลงที่อยู่ของจำเลยที่ 1 แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 เสียก่อน เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงขอฎีกาในส่วนนี้เพื่อขอให้ศาลฎีกาได้โปรดวินิจฉัยให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ด้วย เนื่องจากโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะละเลยต่อคำสั่งศาลแต่อย่างใดอีกทั้งโจทก์ได้ดำเนินคดีตามระเบียบกระบวนพิจารณามาโดยถูกต้องตลอดมา แต่ด้วยเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติจึงทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งศาลได้ภายในระยะเวลาที่ศาลสั่ง โจทก์จึงขอศาลฎีกาโปรดวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นว่าโจทก์มิได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ในวันที่ 8 กันยายน2554 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาแถลงหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ใหม่ออกไป 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตเพื่อให้โจทก์มีเวลาตรวจสอบภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ได้อย่างถูกต้อง ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตให้โจทก์แถลงที่อยู่ของจำเลยที่ 1ได้ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ซึ่งศาลชั้นต้นก็ให้เวลาโจทก์อย่างมากถึง 1 เดือน เพื่อสืบหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็ปล่อยให้วันเวลาล่วงพ้นไปโดยมิได้ดำเนินการใด ๆ เป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ จนกระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2554 เจ้าหน้าที่ศาลจึงรายงานต่อผู้พิพากษาว่าล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาแล้วโจทก์ไม่มาดำเนินการแต่ประการใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฎีกาว่า เป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยพิบัติทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งของศาลได้ภายในระยะเวลาที่ศาลสั่งนั้น เห็นว่า หากมีภัยพิบัติเกี่ยวกับน้ำท่วมศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ โจทก์สามารถสื่อสารกับศาลชั้นต้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อสารอิเล็กทรอนิคส์ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ ปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปโดยมิได้ดำเนินการแต่ประการใด กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ขับไปทำละเมิด จึงถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่ากับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันหรือแทนชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 407,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดมากไปกว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระต่อโจทก์เนื่องจากมูลความแห่งคดีเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share