คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว. ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้นตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 19197 และเลขที่ 19198 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 488 เลขที่ 682 เลขที่ 691 ถึงเลขที่ 693 เลขที่ 696 และเลขที่ 1377 ถึงเลขที่ 1381 ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จำเลยไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตรีวัชรชาญ จดทะเบียนสมรส เมื่อปี 2525 นอกจากพลตรีวัชรชาญจะรับราชการทหารแล้วยังประกอบธุรกิจโดยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเทพพิมาน จำกัด เมื่อประมาณปี 2533 ถึง 2534 พลตรีวัชรชาญซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 19197 และ 19198 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 488 เลขที่ 682 เลขที่ 691 ถึงเลขที่ 693 เลขที่ 696 และเลขที่ 1377 ถึงเลขที่ 1381 ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี รวม 13 แปลง ต่อมาพลตรีวัชรชาญทำนิติกรรมขายฝากที่ดินทั้ง 13 แปลง ดังกล่าวกับจำเลยมีกำหนดเวลา 5 ปี พลตรีวัชรชาญถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 ลายมือชื่อในช่องภริยาผู้ให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาท ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่พลตรีวัชรชาญได้มาขณะที่โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง หากจะมีการขายฝากตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (1) เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะของผู้ให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาท จึงเป็นการทำนิติกรรมที่พลตรีวัชรชาญทำไปตามลำพังฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คงทำให้นิติกรรมไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นเหตุที่จะขอเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่ขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแต่อย่างใดว่า จำเลยมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์และที่โจทก์นำสืบอ้างว่า ราคาขายฝากต่ำกว่าราคาปกตินั้นก็เห็นว่า ราคาขายนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของคู่สัญญาอาจจะไม่เป็นไปตามราคาที่แท้จริงที่มีการซื้อขายกันตามปกติในขณะนั้นก็ได้ นอกจากนี้การที่ไม่ได้ระบุสินไถ่กันไว้ก็ไม่เป็นข้อพิรุธที่จะชี้ให้เห็นว่า จำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด อีกทั้งราคาสินไถ่นั้นแม้จะไม่ได้ระบุกันไว้ในสัญญากฎหมายก็ให้ไถ่ตามราคาขายฝากได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ที่โจทก์อ้างว่า วงเงินขายฝากมีจำนวนสูงจำเลยน่าจะมีการตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมก่อนนั้น ก็ปรากฏว่าหนังสือให้ความยินยอมทุกฉบับพลตรีวัชรชาญได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้แล้ว แม้จำเลยจะไม่ได้มีการตรวจสอบลายมือชื่อดังที่โจทก์กล่าวอ้างก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อพิรุธสงสัยที่จะชี้ให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยสุจริตหรือไม่ และที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยกับโจทก์ไม่รู้จักกันหรือเคยพบกันมาก่อน การที่จำเลยไม่เคยไปดูที่ดินพิพาทที่จะมีการรับซื้อฝากทั้งที่ที่ดินพิพาทมีราคาสูง ผิดวิสัยของผู้ที่จะรับซื้อฝากทั่ว ๆ ไป รวมทั้งการที่จำเลยไม่ได้ไปดำเนินการด้วยตนเองกลับมอบหมายให้ทนายความไปดำเนินการแทนก็ไม่มีการตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับที่ดินที่มีอยู่ที่สำนักงานที่ดินนั้น เห็นว่า ก่อนที่จะมีการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทได้ความว่าที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่สถาบันการเงินอยู่ก่อนแล้วและการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทก็ทำในวันเดียวกันกับวันที่มีการไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงิน การที่จำเลยไม่ได้ไปดูที่ดินพิพาทก่อนหรือจะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเอกสารที่อยู่ที่สำนักงานที่ดินก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ไม่ได้ดำเนินการตามที่โจทก์กล่าวอ้างจะมีผลทำให้การกระทำของจำเลยสุจริตหรือไม่แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาท ทั้งผู้ขายและผู้รับซื้อฝากได้ร่วมกันแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินพิพาทไม่มีสิ่งปลูกสร้างทั้ง ๆ ที่มีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมและภาษีแก่รัฐ รวมทั้งจำเลยได้ประโยชน์โดยได้รับสิ่งปลูกสร้างอันเป็นการแสดงถึงความไม่สุจริตนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่ามีสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การที่คู่สัญญาไม่ได้แจ้งว่ามีสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จะทำนิติกรรมขายฝากกัน กรณีจะเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมและเสียภาษีแก่รัฐหรือไม่ก็ตาม ก็ยังไม่ได้เป็นการชี้ให้เห็นว่าเป็นการแสดงถึงความไม่สุจริตในการทำนิติกรรมการซื้อฝากที่ดินพิพาทของจำเลย รวมทั้งที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยไม่ได้นำหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่า มีการมอบแคชเชียร์เช็คและเงินสดมาแสดงได้ จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะได้ชำระเงิน 23,500,000 บาท แก่พลตรีวัชรชาญจริง เห็นว่า นิติกรรมการขายฝากเป็นสัญญาต่างตอบแทน หากมิได้มีการชำระเงินตามจำนวนที่ตกลงกัน ผู้ขายฝากย่อมไม่ดำเนินการจดทะเบียนขายฝากได้อยู่แล้ว แม้จำเลยจะไม่ได้นำต้นฉบับหรือภาพถ่ายแคชเชียร์เช็คมาแสดงก็ตาม ก็หาได้มีข้อพิรุธสงสัยว่าการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทมีค่าตอบแทนหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า ตามบทบัญญัติในมาตรา 1480 กฎหมายใช้คำว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว คำว่าให้สัตยาบันย่อมมีความหมายว่า นิติกรรมที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งกระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆียะกรรมนั้น เห็นว่า การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมในการจัดการสินสมรสตามข้อยกเว้นแปดประการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไปโดยลำพังฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น นิติกรรมไม่สมบูรณ์คู่สมรสที่ไม่ได้ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ แต่อย่างใดก็ตามตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ได้ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในสัญญาขายฝากอยู่เสมอ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติว่า นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ คงบัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกศาลเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น ที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติด้วยว่า เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว อันเป็นกรณีที่มีความหมายว่า หากมีการให้สัตยาบันแล้วก็จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นอีกไม่ได้ หาได้หมายความไปถึงว่าเป็นกรณีชี้ให้เห็นได้ว่านิติกรรมเมื่อมีการให้สัตยาบันได้ก็แสดงว่า นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะกรรมแต่อย่างใด การบอกล้างนิติกรรมไปยังจำเลยจึงไม่มีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะเพราะเป็นการบอกล้างโมฆียะตามที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้าง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share