คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 104/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องในการชำระราคาสินค้าของจำเลยซึ่งมีต่อผู้คัดค้านโดยอ้างเพียงประการเดียวว่าเงินที่ขออายัดเป็นเงินที่ผู้คัดค้านค้างชำระราคาสินค้าซึ่งผู้คัดค้านซื้อจากจำเลย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านมีภาระต้องชดใช้ราคาสินค้าดังกล่าวแก่จำเลยแต่จำเลยก็มิได้ฟ้องร้องให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยภายในเวลา 2 ปี นับแต่จำเลยส่งมอบสินค้า สิทธิเรียกร้องของจำเลยจึงขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากผู้คัดค้าน คำคัดค้านของผู้คัดค้านเป็นการตั้งประเด็นเสมือนเป็นคำให้การต่อสู้คดีและเป็นคำให้การที่ชัดแจ้ง และแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าเป็นเรื่องใดและขาดอายุความเพราะเหตุใด ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 252,450 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 พฤษภาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 126,225 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 พฤษภาคม 2540) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยชำระเงินรางวัลการขายเป็นเงิน 380,920 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 พฤษภาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยมีต่อผู้คัดค้านเป็นเงิน 954,810.31 บาท ไปยังผู้คัดค้านเพื่อให้ผู้คัดค้านส่งเงินมายังเจ้าพนักงานบังคับคดี
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านปฏิเสธการส่งเงินไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่าผู้คัดค้านไม่มีภาระหนี้สินกับจำเลย ซึ่งความจริงผู้คัดค้านยังมีภาระหนี้ค่าซื้อเครื่องจักรจากจำเลยซึ่งยังต้องชำระให้จำเลยอีกร้อยละ 10 ของราคาเครื่องจักร (ราคาเครื่องจักร 572 ล้านลีร์อิตาลี ขณะซื้อขายคิดเป็นเงินไทย 9,100,000 บาท) ขอให้ศาลทำการไต่สวนสิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า สิทธิเรียกร้องของจำเลยหากจะมีอยู่ก็ขาดอายุความ 2 ปี และจำเลยผิดนัดผิดสัญญาต่อผู้คัดค้าน ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหายและไม่มีภาระหนี้สินต่อกันแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้องของโจทก์และเพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้าน
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามคำสั่งอายัดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีถึงผู้คัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันมีคำสั่งนี้
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2538 จำเลยขายเครื่องจักรสำหรับผลิตพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปชนิดกลวงให้แก่ผู้คัดค้านเป็นราคาเงินอิตาลีจำนวน 572,279,200 ลีร์อิตาลี คิดเป็นเงินไทยขณะนั้นประมาณ 9,100,000 บาท โดยกำหนดชำระเงินเป็น 3 งวด งวดแรกจำนวนร้อยละ 10 ของราคาสินค้า จ่ายเป็นเงินดาวน์ งวดที่ 2 จำนวนร้อยละ 80 ของราคาสินค้าเมื่อแสดงรายการสินค้าลงเรือ และงวดที่ 3 ที่เหลือเมื่อแสดงหนังสือรับรองการทดลองเดินเครื่องจักรจากผู้คัดค้าน หรือในกรณีไม่มีการทดลองเดินเครื่องจักรภายใน 180 วัน นับแต่วันที่สินค้าลงเรือ โดยแสดงหนังสือรับรองจากผู้คัดค้านว่าไม่ต้องการทดลองเดินเครื่องจักร การชำระเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 นั้น ผู้คัดค้านได้ขอเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านได้ชำระเงินงวดแรกและงวดที่ 2 ให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว ส่วนงวดที่ 3 ยังไม่ชำระ จำเลยได้ส่งช่างเทคนิคของโรงงานผลิตเครื่องจักรไปติดตั้งตรวจสอบและทดลองเดินเครื่องจักรให้ผู้คัดค้านและผู้คัดค้านได้ออกหนังสือรับรองการทดลองเดินเครื่องจักร ซึ่งจำเลยได้นำหนังสือรับรองดังกล่าวไปแสดงเพื่อขอรับเงินงวดที่ 3 จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้คัดค้านได้ขอเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขการจ่ายเงินแล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2540 แต่เนื่องจากเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหมดอายุไปแล้ว และผู้คัดค้านยืนยันให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงไม่จ่ายเงินให้จำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่าคำคัดค้านของผู้คัดค้านก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องในการชำระราคาสินค้าของจำเลยจำนวน 954,810.31 บาท ซึ่งมีต่อผู้คัดค้านโดยอ้างเพียงประการเดียวว่าเงินที่ขออายัดเป็นเงินที่ผู้คัดค้านค้างชำระราคาสินค้าซึ่งผู้คัดค้านซื้อจากจำเลย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านมีภาระต้องชดใช้ราคาสินค้าดังกล่าวแก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2540 (ที่ถูกเป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2540) แต่จำเลยก็มิได้ฟ้องร้องให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยภายในเวลา 2 ปี นับแต่จำเลยส่งมอบสินค้า จนเวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปี สิทธิเรียกร้องของจำเลยจึงขาดอายุความตามกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากผู้คัดค้าน คำคัดค้านของผู้คัดค้านเป็นการตั้งประเด็นเสมือนเป็นคำให้การต่อสู้คดี และเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าเป็นเรื่องใดและขาดอายุความเพราะเหตุใดชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พงศ.2522 มาตรา 31 แล้ว ส่วนอายุความที่ผู้คัดค้านยกขึ้นต่อสู้นั้นจะต้องด้วยกฎหมายฉบับใดและมาตราใดเป็นหน้าที่ของศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเอง จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านขาดอายุความแล้วหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความและไม่วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านขาดอายุความหรือไม่ จึงไม่ชอบอุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านขาดอายุความหรือไม่ แล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share