คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นสถาบันการเงินประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินและให้กู้ยืมเงิน ล้วนแต่เป็นธุรกรรมเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 นำมาประกันก็ครอบคลุมหนี้ของจำเลยที่ 1 ทุกประเภท โจทก์จึงสามารถนำสินเชื่อทุกประเภทมารวมกันเป็นทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาเป็นคดีเดียวกันได้ โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. จึงชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกมูลหนี้แต่ละประเภท เป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย และการที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลเกินกว่าสองแสนบาทจึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสียเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,821,097.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 20.25 ต่อปี ของต้นเงิน 41,500,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 30,211,871.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 20.25 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด 20,609,226.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 20.25 ต่อปี ของต้นเงิน 16,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 49,882,334.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี ของเงิน 41,500,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 29,954,389.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี ของเงิน 25,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 19,927,945.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี ของเงิน 16,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายนรพันธุ์ เหมือนทองจีน ฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยทั้งสามให้การว่าหนังสือมอบอำนาจปลอม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำกรรมการผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความ จึงไม่สามารถรับฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวสมบูรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีนางประมวลพร แย้มบุญชู เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายนรพันธุ์ เหมือนทองจีน เป็นผู้ดำเนินคดีแทนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน และพยานลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย ซึ่งหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 มีนายประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจนายนรพันธุ์ เหมือนทองจีน ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจและนางประมวลพร แย้มบุญชู ลงลายมือชื่อเป็นพยานคนหนึ่งถูกต้องตรงกับคำเบิกความของพยานโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นแต่ประการใด ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้นำผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความก็มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าได้มีการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จริง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อที่สองมีว่า ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ตามที่จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยไม่ได้รับเงินและไม่ได้ขายตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ และพยานโจทก์เบิกความแต่เพียงลอยๆ ว่าโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 แล้ว โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 แต่จำหมายเลขบัญชีไม่ได้ เห็นได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่ามีการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน และได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จริง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จำเลยทั้งสาม ทำให้จำเลยทั้งสามไม่ได้รับความยุติธรรมนั้น จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไม่เคยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และไม่ได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงินเก้าฉบับหลังให้แก่โจทก์ เห็นได้ว่า คำให้การดังกล่าวของจำเลยทั้งสามยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ ในการกู้ยืมเงินโจทก์และไม่ได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงินเก้าฉบับหลังดังฟ้องของโจทก์เลย ฉะนั้น ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้รับเงิน และโจทก์ไม่สามารถนำสืบว่าได้ชำระเงินตามที่อ้างตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว เป็นการอุทธรณ์ในเรื่องที่นอกเหนือคำให้การที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสามชอบแล้ว และเมื่อจำเลยทั้งสามฎีกาในปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอีก จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามเช่นเดียวกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อที่สามมีว่า โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง แต่พยานโจทก์ไม่สามารเบิกความให้เห็นว่า การที่โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี นั้น คิดอย่างไรและอาศัยข้อกฎหมายอะไร การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงเป็นโมฆะ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์สามารถเรียกเก็บจากลูกค้าได้ก็โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกไม้และส่วนลด โดยให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดที่จะเรียกจากลูกค้าได้ มิใช่อาศัยประกาศของกระทรวงการคลังดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาแต่อย่างใด หากแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกข้อกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดดังกล่าวแล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าตามรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.23 และ จ.36 ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ในเอกสารหมาย จ.21 และประกาศธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.22 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ได้ หาทำให้การคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวของโจทก์ตกเป็นโมฆะไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า พยานโจทก์ไม่สามารถเบิกความให้เห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอย่างไรและอาศัยกฎหมายใดนั้น ก็ปรากฏว่าพยานเอกสารของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23 และ จ.36 ดังกล่าวซึ่งส่งประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อความและรายละเอียดที่แจ้งชัดสามารถรับฟังได้ว่าโจทก์สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อสุดท้ายมีว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความที่จำเลยทั้งสามต้องใช้แทนโจทก์จำนวน 40,000 บาท นั้นสูงเกินไปหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีนี้ไม่มีข้อยุ่งยากและโจทก์สืบพยานเพียง 2 ปากเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้ทุนทรัพย์มีจำนวนสูงถึง 50,000,000 บาทเศษ แม้โจทก์จะนำพยานเข้าสืบเพียง 2 ปาก แต่โจทก์ก็ต้องตระเตรียมและรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีนี้จำนวนมากเพื่อดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสาม แม้จะดำเนินคดีอาญาตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ก็หลบหนีไปทั้งยังยกข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้อีกหลายข้อหลายประเด็น ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ดังกล่าวจึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์เป็นสถาบันการเงินประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินและให้กู้ยืมเงิน ล้วนแต่เป็นธุรกรรมเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 นำมาประกันก็ครอบคลุมหนี้ของจำเลยที่ 1 ทุกประเภท โจทก์จึงสามารถนำสินเชื่อทุกประเภทมารวมกันเป็นทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาเป็นคดีเดียวกันได้ โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1) ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกมูลหนี้แต่ละประเภท เป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย และการที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลเกินกว่าสองแสนบาท จึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสียเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินจากสองแสนบาทในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ ในศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาแก่จำเลยทั้งสาม

Share