คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามที่ศาลชั้นต้นเป็นศาลแรกไว้แล้ว ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยทั้งสามข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัดปัตตานี ฟ้องคดีหลังของโจทก์ที่ศาลจังหวัดปัตตานีจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 อันส่งผลให้คำสั่งประทับฟ้องของศาลจังหวัดปัตตานีไม่ชอบไปด้วยกรณีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 (เดิม) ที่ห้ามมิให้ศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องไว้แล้ว ต้องเป็นกรณีที่ศาลอื่นรับประทับฟ้องไว้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น คดีนี้ศาลจังหวดปัตตานีมีคำสั่งประทับฟ้องไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ให้จำหน่ายคดีโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้นจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328, 332 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48, 49, ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโฆษณาหรือประกาศคำพิพากษาของศาลและคำขออภัยโจทก์เนื้อที่เต็มหน้าในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานครทุกฉบับ เป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายในการทำจดหมายเหตุบันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการตามเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับที่เก็บไว้เป็นหลักฐาน ณ หอสมุดแห่งชาติ ตามข้อความในคำขอที่ให้จำเลยทั้งสามประกาศคำพิพากษาของศาลและคำขออภัยโจทก์ดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในมูลความผิดเดียวกันนี้ที่ศาลจังหวัดปัตตานี ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 928/2542 และศาลจังหวัดปัตตานีประทับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2542 ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงไม่อาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาต่อไปตามพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 18 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายจับจำเลยทั้งสาม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นสอบทนายโจทก์และทนายจำเลยทั้งสามแล้วต่างยอมรับว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเรื่องเดียวกันที่ศาลชั้นต้นต่างๆ รวมทั้งสิ้น 8 ศาล ศาลชั้นต้นในคดีนี้เป็นศาลแรกที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่วนศาลจังหวัดปัตตานีเป็นศาลแรกที่ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณานั้นศาลจังหวัดปัตตานีซึ่งประทับฟ้องไว้ก่อน มีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เนื่องจากไม่อนุญาตให้โจทก์นำคดีดังกล่าวมารวมพิจารณากับคดีนี้ ส่วนคดีของโจทก์ที่ศาลอื่นๆ อีก 6 ศาล ศาลได้จำหน่ายคดีแล้วเช่นกัน คดีของโจทก์คงเหลือที่ศาลชั้นต้นเพียงศาลเดียว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 7 เมษายน 2543 ว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาของโจทก์ได้เพราะว่าคดีของโจทก์คงเหลืออยู่ที่ศาลชั้นต้นเพียงศาลเดียว ให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสามและให้นัดสืบพยานโจทก์ต่อไป จำเลยทั้งสามได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ตามพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 18 ให้จำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 และยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับมูลคดีนี้ต่อศาลจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 ศาลจังหวัดปัตตานีได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2542 ส่วนศาลชั้นต้นก็ได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 (เดิม) เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามที่ศาลชั้นต้นเป็นศาลแรกไว้แล้ว ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยทั้งสามข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัดปัตตานี ฟ้องคดีหลังของโจทก์ที่ศาลจังหวัดปัตตานีจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อันส่งผลให้คำสั่งประทับฟ้องของศาลจังหวัดปัตตานีไม่ชอบไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เพราะศาลจังหวัดปัตตานีรับประทับฟ้องโจทก์โดยชอบไว้พิจารณาพิพากษาแล้วตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 (เดิม) นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะกรณีที่ห้ามมิให้ศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องไว้แล้ว ต้องเป็นกรณีที่ศาลอื่นรับประทับฟ้องไว้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น คดีนี้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งประทับฟ้องไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ให้จำหน่ายคดีโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้นจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ของศาลชั้นต้น แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share