คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การครอบครองที่ดินของ ส. เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากสหกรณ์นิคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของสหกรณ์นิคม หากมิได้ปฏิบัติตาม ส. อาจถูกสั่งให้ออกจากนิคมสหกรณ์ได้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐหรือสหกรณ์ผู้ได้รับมอบอำนาจทางกฎหมายให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิก มิได้มอบสิทธิครอบครองให้แก่สมาชิกแต่อย่างใด การครอบครองของ ส. จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์และไม่สามารถขายหรือส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใดได้ การที่ ส. ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์มานั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารสิทธิที่แสดงว่า ส. ได้ทำประโยชน์ในที่ดินและเป็นสมาชิกสหกรณ์มาเกินห้าปี และสามารถนำเอกสารนี้ไปออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองทำประโยชน์ได้เท่านั้น มิใช่เป็นเอกสารสิทธิที่แสดงถึงการครอบครอง ดังนั้น ถึงแม้ผู้ร้องจะได้รับมอบการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก็เป็นเพียงเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของ ส. เท่านั้น เมื่อ ส. ไม่มีสิทธิครอบครองผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครองด้วย และเมื่อภายหลัง ส. ถึงแก่กรรมจำเลยได้เข้าสวมสิทธิของ ส. นำหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ร้องไว้ก็ตาม แต่เมื่อสัญญาซื้อขายได้กระทำลงยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ มาตรา 12 จึงเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้ ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 141,171 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี จากต้นเงิน 92,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 6 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินดังกล่าวและบ้านเลขที่ 132/2 หมู่ที่ 2 (ปัจจุบันหมู่ที่ 9) ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เป็นของผู้ร้องและนายประสิทธิ์ ชะโหมตะคุ สามีผู้ร้อง ไม่ใช่ของจำเลย จำเลยทำสัญญาขายให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 แต่ที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในระยะห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จึงยังไม่ได้จดทะเบียนโอนผู้ร้องและสามีได้ทำนาปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ประดับ และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอด ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ และที่ดินดังกล่าวอยู่ในบังคับห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 นิติกรรมที่ผู้ร้องทำขึ้นกับจำเลยหรือบิดาจำเลยในระหว่างที่กฎหมายห้ามไว้ จึงขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ โจทก์จดทะเบียนรับจำนองที่ดินดังกล่าวและสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเดิมมีเนื้อที่ 30 ไร่เศษ โจทก์ได้จัดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายสนับ เคลือบสูงเนิน เข้าทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 นายสนับได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน. 5) ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวแล้ว ในระหว่างที่นายสนับทำประโยชน์อยู่ในที่ดินแปลงพิพาท นายสนับได้แบ่งที่ดินเนื้อที่ 15 ไร่ คือ ส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ขายให้แก่ผู้ร้องตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ร.4 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 ผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกบ้านพักอาศัยและทำเกษตรกรรมตลอดมา ต่อมาเมื่อปี 2538 นายสนับถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นบุตรนายสนับได้เข้าสวมสิทธิของนายสนับและได้นำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน. 5) ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในชื่อของจำเลยทั้งแปลงหลังจากนั้นจำเลยได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลง คือ ที่ดินพิพาทที่ผู้ร้องทำประโยชน์มีเนื้อที่ 15 ไร่ กับส่วนที่เหลือเนื้อที่ 18 ไร่เศษในนามของจำเลย ต่อมาจำเลยได้ขายแปลงเนื้อที่ 18 ไร่เศษให้แก่โจทก์ ส่วนที่ดินพิพาทจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสาร ร.7 ให้แก่ผู้ร้องไว้ หลังจากนั้นจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อประกันหนี้เงินกู้แล้วไม่ชำระหนี้ โจทก์ฟ้องศาลขอให้บังคับ ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องหรือไม่ ในข้อนี้ผู้ร้องฎีกาว่า นายสนับได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเพื่อตนเองจนได้หนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) นายสนับจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมิใช่ครอบครองแทนโจทก์ และมีอำนาจแบ่งขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ร้องได้ เมื่อผู้ร้องได้รับมอบสิทธิครอบครองผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง ผู้ร้องจึงได้สิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่โจทก์จัดให้แก่นายสนับซึ่งเป็นสมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า…เมื่อสมาชิกนิคมได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว และได้เป็นสมาชิกนิคมมาเป็นเวลาเกินกว่าห้าปี…ให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่ผู้นั้น มาตรา 11 วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์แล้วจะขอให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ และมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี และวรรคสอง บัญญัติว่า ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี นอกจากนี้สมาชิกนิคมสหกรณ์จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 17 หากไม่ปฏิบัติตามอธิบดีกรมสหกรณ์ที่ดินมีอำนาจสั่งให้ออกจากนิคมสหกรณ์ได้ตามมาตรา 38 เมื่อถูกสั่งให้ออกจากนิคมสหกรณ์ผู้ครอบครองที่ดินก็จะสิ้นสภาพสมาชิกนิคมสหกรณ์ตามมาตรา 39 เมื่อสิ้นสภาพสมาชิกแล้วก็ไม่อาจครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อไปได้ตามมาตรา 6 ดังนั้นการครอบครองที่ดินของนายสนับดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากสหกรณ์นิคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของสหกรณ์นิคมข้างต้น หากมิได้ปฏิบัติตามนายสนับอาจถูกสั่งให้ออกจากนิคมสหกรณ์ได้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐหรือสหกรณ์ผู้ได้รับมอบอำนาจทางกฎหมายให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิก มิได้มอบสิทธิครอบครองให้แก่สมาชิกแต่อย่างใด การครอบครองของนายสนับจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ และไม่สามารถขายหรือส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใดได้ การที่นายสนับได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) มานั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารสิทธิที่แสดงว่านายสนับได้ทำประโยชน์ในที่ดินและเป็นสมาชิกสหกรณ์มาเกินห้าปี และสามารถนำเอกสารนี้ไปออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้เท่านั้น มิใช่เป็นเอกสารสิทธิที่แสดงถึงการครอบครองตามที่ผู้ร้องฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น ถึงแม้ผู้ร้องจะได้รับมอบการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก็เป็นเพียงเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของนายสนับเท่านั้น เมื่อนายสนับไม่มีสิทธิครอบครองผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครองด้วย และเมื่อภายหลังนายสนับถึงแก่กรรม จำเลยได้เข้าสวมสิทธิของนายสนับนำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) สำหรับที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ร้องไว้ก็ตาม แต่เมื่อสัญญาซื้อขายได้กระทำลงยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวจึงเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้ ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
สำหรับที่ผู้ร้องฎีกาต่อไปว่า จำเลยไม่มีสิทธิจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์นั้น เมื่อฟังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของผู้ร้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน

Share