แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำกับ ส. ระบุว่าจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงตกลงคืนเงินที่ยักยอกไปให้แก่ ส. นั้น เป็นเพียงหนังสือที่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นหนี้ ส. และยอมรับชำระหนี้แก่ ส. ไม่มีข้อความที่จำเลยที่ 1 กับ ส. ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงันสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ถึง 852
โจทก์เป็นธนาคารซึ่งรับฝากเงินของ ส. ผู้เป็นลูกค้า ย่อมมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ ส. ฝากไว้เมื่อ ส. ทวงถาม การที่จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป ทำให้เงินในบัญชีเงินฝากของ ส. ขาดหายไป โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่หายไปให้แก่ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 การที่โจทก์คืนเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปให้แก่ ส. จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าไม่มีหนี้ต้องชำระ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ที่เกิดจากจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ให้แก่ ส. ไปแล้ว ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินที่ชำระไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2542 เป็นต้นไป โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวจำนวน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาเงินสาขาขอนแก่น มีหน้าที่ดูแลเงินสดรับจ่ายประจำวันเฉพาะ แต่ระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยกัน ภายในสาขาขอนแก่นเท่านั้น โดยแต่ละวันจะรวบรวมเงินสดที่พนักงานแต่ละคนรับเข้าและเบิกถอนไปจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปบริการแก่ลูกค้า ยอดเงินที่จำเลยที่ 1 รักษาจะต้องตรงกับยอดเงินที่ปรากฏในบัญชีที่สมุห์บัญชีทำขึ้นในแต่ละวันด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับฝากเงินหรือเบิกถอนเงินให้แก่ลูกค้าแต่อย่างใด กรณีลูกค้ารายนางสมคิด จันทร์แซม นั้นเป็นเรื่องนางสมคิดได้ทำความตกลงไว้กับนางสาวสะอาด ไตรเวทย์ ผู้จัดการของโจทก์สาขาขอนแก่น ในขณะนั้นว่านางสมคิดได้ติดต่อนำลูกค้ารายย่อยที่ซื้อที่ดินในโครงการจัดสรรของนางสมคิดชื่อโครงการวินแลนด์ไปขอกู้เงินจากโจทก์สาขาขอนแก่น โดยนางสาวสอาดและนางสมคิดได้ตกลงกันว่าหากโจทก์อนุมัติให้ลูกค้ารายใดกู้เงินให้นางสมคิดเปิดบัญชีเงินฝากในนามของนางสมคิด โดยให้ผู้ขอกู้แต่ละรายจะต้องฝากเงินไว้เป็นประกันการชำระหนี้จำนวนร้อยละสิบของเงินที่ขอกู้ ห้ามมิให้ถอนเงินฝากภายในเวลา 1 ปี และนางสาวสะอาดจะเป็นผู้เก็บสมุดเงินฝากไว้ หากลูกหนี้ในโครงการรายใดผิดนัดไม่ชำระหนี้ยินยอมให้โจทก์สาขาขอนแก่นหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวชำระหนี้ค่าเสียหายได้ตามบัญชีเงินฝากเลขที่ 04-11-00914-2 ต่อมามูลหนี้ในโครงการที่มาขอกู้เงินบางรายผิดนัดโจทก์สาขาขอนแก่นจึงได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสมคิดดังกล่าวไปชำระหนี้ จำเลยที่ 1 มิได้ถอนเงินไปจากบัญชีเงินฝากของนางสมคิดระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 29 กันยายน 2538 หรือวันอื่นแต่อย่างใด การถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสมคิดแต่ละครั้งจะต้องมีสมุดเงินฝากประกอบการทำรายการด้วยการถอนเงินจำนวน 400,000 บาท ถึง 500,000 บาท ตามระเบียบแล้วจะต้องได้รับอนุมัติจากสมุห์บัญชีหรือผู้จัดการสาขาก่อน จึงจะทำรายการได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่เกี่ยวข้องกับการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสมคิดตามฟ้องแต่อย่างใด การที่โจทก์ชำระเงินให้แก่นางสมคิด จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การด้วยวาจาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2542 เป็นต้นไป โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 38,219.17 บาท หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้ดังกล่าวแทนเป็นเงิน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องวันที่ 22 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และ ข้อ 2.8 สรุปได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดให้นางสมคิดแล้ว ทำให้หนี้ละเมิดระงับสิ้นไป ต้องบังคับให้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งนางสมคิดเท่านั้นมีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ โจทก์ไม่มีภาระต้องชำระหนี้แก่นางสมคิด การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่นางสมคิดโดยรู้ว่าไม่ต้องชำระจึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โจทก์ไม่สามารถไล่เบี้ยให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 นั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.25 ที่จำเลยที่ 1 ทำกับนางสมคิดระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสมคิดแล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงตกลงคืนเงินที่ยักยอกไปให้แก่นางสมคิดนั้นเป็นเพียงหนังสือที่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นหนี้นางสมคิด และยอมชำระหนี้แก่นางสมคิด ไม่มีข้อความที่จำเลยที่ 1 กับนางสมคิดตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ถึง 852 โจทก์เป็นธนาคารซึ่งได้รับฝากเงินของนางสมคิดผู้เป็นลูกค้า ย่อมมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่นางสมคิดฝากไว้เมื่อนางสมคิดทวงถาม การที่จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสมคิดแล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป ทำให้เงินในบัญชีเงินฝากของนางสมคิดขาดหายไป โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ขาดหายไปให้แก่นางสมคิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 การที่โจทก์คืนเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปให้แก่นางสมคิดจึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าไม่มีหนี้ต้องชำระ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ที่เกิดจากจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ให้แก่นางสมคิดไปแล้ว ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินที่ชำระไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทั้งสามข้อฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อ 2.6 และข้อ 2.7 ว่า นางสะอาด ไตรเวทย์ ผู้จัดการสาขาขอนแก่น และนายธนพรรณ จิตตนนท์ สมุห์บัญชีมีส่วนร่วมประมาทเลินเล่อในการละเมิดคดีนี้ด้วย จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายด้วยนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสมคิดและยักยอกเงินดังกล่าวไป เป็นการกระทำละเมิดต่อนางสมคิดในทางการที่จ้าง โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ชดใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปคืนแก่นางสมคิด และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ชำระแก่นางสมคิดคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ดังนั้น ไม่ว่าการกระทำละเมิดครั้งนี้ จะมีผู้อื่นร่วมกระทำละเมิดหรือไม่ และจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่เพียงใด ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดกลายเป็นไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด อุทธรณ์ทั้ง 2 ข้อของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน