แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันพรากโจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ไปจากโจทก์ร่วมที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งมิใช่ภริยาจำเลยทั้งหกโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและจำคุกตลอดชีวิต แม้จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งหกเพื่อพิสูจน์ว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดตามฟ้องและศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจนกว่าจะพอใจว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหมด การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นฝ่ายไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เอง และโจทก์ร่วมที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งหกมีเพศสัมพันธ์ เป็นการอุทธรณ์ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพไม่สมฟ้องนั่นเอง ไม่ใช่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งจะต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 317
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งหกขอถอนคำให้การเดิมแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางแพงศรี ผู้เสียหายที่ 1 และเด็กหญิง ก. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนางแพงศรี ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกในส่วนผู้เสียหายที่ 1 อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร ส่วนผู้เสียหายที่ 2 อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานกระทำชำเรา) โดยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ว่าโจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งหกโดยโจทก์ร่วมที่ 1 เรียกค่าเสียหายที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อบำบัดจิตใจและเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นเงิน 100,000 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นเงิน 120,000 บาท รวมเป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ร่วมที่ 2 เรียกร้องค่าเสียหายที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่ ค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงเรียนเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าเสียหายทางร่างกาย จิตใจและเสรีภาพเป็นเงิน 300,000 บาท ค่าเสียหายด้านทุรศีลธรรมทำให้มีมลทินติดตัว ถูกสังคมดูถูกเหยียดหยามเป็นเงิน 180,000 บาท รวมเป็นเงิน 720,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับที่ 5 และที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งเฉพาะจำเลยดังกล่าวออกจากสารบบความ และโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม)), 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 27 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ทั้งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองจนเป็นที่พอใจแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกคนละ 25 ปี (ที่ถูก และฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน) รวมจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 คนละ 27 ปี 6 เดือน ในส่วนคดีแพ่ง ศาลพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 4 และผู้ร้องทั้งสอง (ที่ถูก โจทก์ร่วมทั้งสอง) ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 เห็นว่า ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันพรากโจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ไปจากโจทก์ร่วมที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาจำเลยทั้งหก โดยจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายจับแขนและปิดปากโจทก์ร่วมที่ 2 จนโจทก์ร่วมที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยทั้งหกกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 จนสำเร็จความใคร่หลายครั้ง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงไม่ยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและจำคุกตลอดชีวิต แม้จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองก็ยังมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งหกเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำความผิดตามฟ้องและศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำความผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกตามฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นฝ่ายไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เองและยินยอมให้จำเลยทั้งหกกระทำชำเรา โดยอ้างเหตุในอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่เคยถูกกระทำชำเรามาแล้วหลายครั้งโดยบุคคลหลาย ๆ คน ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งหกมีเพศสัมพันธ์เป็นกลุ่มแบบเล่นเซ็กส์หมู่ โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้ดิ้นรนขัดขืนและกล่าวอ้างในฎีกาอีกตอนหนึ่งว่า ขณะที่โจทก์ร่วมที่ 2 กำลังร่วมประเวณีกับจำเลยทั้งหกนั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้ดิ้นรนต่อสู้หรือขัดขวาง ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมที่ 2 มีโอกาสร้องขอความช่วยเหลือได้ แต่โจทก์ร่วมที่ 2 กลับพูดเย้ยหยันจำเลยที่ 5 ว่า “ถ้าไม่แข็งไม่ต้องสอดใส่เข้าไป” ซึ่งแสดงว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้กลัวหรือตกอยู่ในภาวะที่ถูกบังคับแต่อย่างใด แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ยินยอมหรือเต็มใจให้จำเลยทั้งหกร่วมประเวณีในลักษณะเป็นกลุ่มหรือเซ็กส์หมู่ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ฟังพยานหลักฐานโจทก์ที่สืบประกอบคำรับสารภาพว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันพรากโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเสียจากโจทก์ร่วมที่ 1 และร่วมกันจับแขนและปิดปากของโจทก์ร่วมที่ 2 จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ยินยอม ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องเพราะโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพไม่สมฟ้องนั่นเอง จึงไม่ใช่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งจะต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยก่อนตามลำดับชั้นศาลแต่อย่างใด แต่เมื่อศาลฎีกาพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทั้งฉบับแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาถูกต้องชอบด้วยเหตุผลแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่ การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา