คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยซึ่งขับรถยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์อื่นมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และมิได้ไปแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในคืนเกิดเหตุ แม้จะอ้างว่าได้มอบให้ พ. เป็นคนคอยแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และในวันรุ่งขึ้นได้มาพบเจ้าพนักงานตำรวจแล้วก็ตามก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้จำเลยจึงมีความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคแรก160 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,300, 390 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157, 78 (ที่ถูกมาตรา 78 วรรคแรก), 160 วรรคแรกฐานขับรถประมาทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,000 บาทฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุปรับ 500 บาท รวมปรับ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อลากรถพ่วงของผู้เสียหายที่ 1 มาตามถนนบางเลน-ลาดหลุมแก้ว มุ่งหน้าไปทางอำเภอลาดหลุมแก้ว เมื่อจำเลยขับรถลงสะพานมาได้สวนกับรถยนต์เก๋งของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งนายอดิศรขับมาและเกิดชนกันขึ้น เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกและรถยนต์เก๋ง ดังกล่าวได้รับความเสียหาย และนายอดิศรกับนางสาวรัชดาได้รับอันตรายสาหัส มีปัญหาว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทหรือไม่ พยานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยไม่มั่นคงเพียงพอที่จะฟังว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทดังฟ้องจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีโดยไม่หยุดช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียงหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อเกิดเหตุแล้ว จำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และมิได้ไปแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในคืนเกิดเหตุ แม้จำเลยจะอ้างว่าได้มอบให้นายไพโรจน์เป็นคนคอยแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และในวันรุ่งขึ้นได้มาพบเจ้าพนักงานตำรวจแล้วก็ตาม เมื่อจำเลยออกไปจากที่เกิดเหตุและมิได้ไปแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียงทันทีก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคแรก,160 วรรคแรก ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share