คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5034/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาจำเลยตามแบบแปลนและสัญญาต้องมีการเจาะสำรวจชั้นดินก่อน การก่อสร้างจะใช้เสาเข็มขนาดไหน จำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับผลการสำรวจ ตามรายการต่อท้ายสัญญาระบุว่า “การก่อสร้างฐานราก ของอาคารใดต้องใช้เสาเข็มชนิดที่สามารถรับน้ำหนักได้ตามกำหนดในแบบแปลน แต่เสาเข็มนั้นเป็นขนาดเล็กหรือจำนวนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ผู้ว่าจ้างกำหนดเป็นมาตรฐานราคากลาง ในการนี้ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างหักเงินค่าจัดหารวมค่าตอกเข็มของอาคารนั้นออกเท่ากับจำนวนที่คำนวณได้จากสูตรที่กำหนดในเงื่อนไขการหักค่าเข็ม” ข้อสัญญานี้หมายความว่าถ้าผลสำเร็จในคุณภาพของงานที่จำเลยจะได้รับนั้นเท่าเดิมโดยโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงไปในการทำการงานส่วนนี้แล้ว ค่าจ้างจะต้องลดลงตามส่วนโดยคำนวณตามสูตรที่กำหนดไว้ ปรากฏว่าดินในที่ก่อสร้างเป็นดินแข็ง หากใช้เสาเข็มรูปตัวทีตามแบบเดิมเสาเข็มจะหัก โจทก์ต้องใช้เสาเข็มตัน และขนาดใหญ่กว่าแบบเดิม แต่มีจำนวนต้นน้อยกว่าโดยโจทก์จำเลยเห็นชอบแล้ว ทั้งราคาและค่าใช้จ่ายในการตอก เสาเข็มตัน ต่อต้นสูงกว่าเสาเข็มรูปตัวที การเปลี่ยนเสาเข็มดังกล่าวไม่เป็นกรณีทำให้ผลงานของจำเลยลดคุณภาพและทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำงานน้อยลงไป กรณีจึงไม่อยู่ในเจตนารมณ์ของข้อสัญญาดังกล่าว สูตรหักค่าเข็มคือ x=y-abel x คือ จำนวนเงินค่าเข็มที่จะหักออก a คือ จำนวนเสาเข็ม b คือ ความยาวเส้นรอบรูป c คือค่าที่กำหนดในตาราง 1 สูตรดังกล่าวต้องอยู่ภายในเงื่อนไข 2 ประการคือ โจทก์ต้องใช้เสาเข็มจำนวนเท่าเดิมและชนิดเดิม แต่ขนาดเล็กกว่าประการหนึ่ง หรือโจทก์ใช้เสาเข็มชนิดและขนาดเท่าเดิม แต่จำนวนต้นน้อยกว่าที่ระบุไว้แต่เดิมในสัญญาอีกประการหนึ่ง กรณีของโจทก์นั้นเสาเข็มที่ใช้เป็นเสาเข็มตัน และขนาดใหญ่กว่า เป็นการแตกต่างกันทั้งชนิดและขนาด เมื่อตอก แล้วจะรับน้ำหนักได้มากกว่าเดิมจากที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงไม่อาจจะนำเอาข้อกำหนดในรายการต่อท้ายสัญญาและสูตรหักค่าเข็มมาหักเงินค่าจ้างจากโจทก์ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษา ทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องสรุปความได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ 2 สัญญาให้ทำการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาสกลนคร จังหวัดสกลนครสัญญาหนึ่ง และการประปาเชียงราย จังหวัดเชียงราย อีกสัญญาหนึ่งเพื่อก่อสร้างถังตกตะ กอน โรงกรองน้ำ ฯลฯ ตามสัญญาจ้างและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทั้งสองสัญญา โจทก์ได้ว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวร มันเอนยิเนียริ่ง คอนซอลแทนส์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของโจทก์และจำเลยให้เป็นผู้ทดสอบดิน เพื่อกำหนดแบบฐานรากและเสาเข็มในการก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพของดินบริเวณที่ก่อสร้าง และเมื่อเจาะสำรวจดินแล้วได้มีความเห็นว่า ไม่ควรใช้เสาเข็มตามแบบที่กำหนดซึ่งเป็นเสาเข็มขนาดเล็ก เพราะเสาเข็มอาจหักในขณะตอก วิศวกรของโจทก์และวิศวกรกองเทคนิคของจำเลยปรึกษากันแล้วเห็นชอบให้ใช้เสาเข็ม ค.ส.ล.หรือเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงซึ่งมีความมั่นคงแข็งแรงถูกต้องตามหลักวิชาการและเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา และส่งมอบแก่จำเลย โดยจำเลยได้ตรวจรับมอบงานแล้วทั้งสองแห่ง แต่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบถ้วน โดยหักค่าจ้างไว้อ้างว่าเสาเข็มที่ตอกมีจำนวนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามสูตร ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฐานรากและเสาเข็มของอาคารต่างไปจากสัญญา จำเลยจะพิจารณาภายหลังว่าการหักเงินกู้ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยหักเงินจำนวนดังกล่าวไว้ก่อนเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ และโจทก์ได้สงวนสิทธิไว้โดยเชื่อว่าจำเลยจะคืนเงินที่หักไว้ให้โจทก์ เพราะการหักเงินไม่ถูกต้อง จำเลยไม่มีสิทธิที่จะคิดหักเงินตามเงื่อนไข การคิดหักเงินค่าเสาเข็มที่กำหนดไว้ในรายการต่อท้ายสัญญา เพราะกรณีของโจทก์นี้โจทก์ใช้เสาเข็มมีขนาดใหญ่ แม้เสาเข็มจะมีจำนวนน้อยไปบ้างก็ไม่เข้าเงื่อนไขการหักเงินดังกล่าว เสาเข็มตามแบบและสูตรที่กำหนดถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ต่อมาโจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาทั้งสองแห่ง และโจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระเงินที่หักไว้ทั้งสองสัญญาแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ทำให้โจทก์เสียหายขอคิดค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การทั้งสองสำนวนมีใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาสกลนครและการประปาเชียงรายตามฟ้องจริงที่โจทก์อ้างว่าเสาเข็มที่ใช้เป็นการกำหนดขึ้นตามผลการทดสอบดินเสาเข็มตามแบบและสูตรที่กำหนดจึงยกเลิกโดยปริยายไม่เป็นความจริง การที่โจทก์ใช้เสาเข็มขนาดที่เสนอมา เมื่อปรากฏว่าเสาเข็มมีจำนวนน้อยกว่าเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ในแบบแปลนจำเลยย่อมมีสิทธิคิดหักเงินได้ตามสูตรที่กำหนดในเงื่อนไขการคิดหักเงิน x = y – abc1 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่โจทก์ยอมรับและทราบดีอยู่แล้วในการยื่นซองประกวดราคาและในสัญญาจ้างทั้งสองสัญญา สูตรการคิดหักเงินมิได้ถูกยกเลิกและมิได้มีข้อกำหนดยกเว้นได้ การหักเงินของจำเลยนี้ถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและสัญญาทุกประการ โจทก์ไม่ได้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ในสำนวนแรก จำนวน 2,043,602 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ตามคำของนายชวลิต สารันต์ ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบและสัญญาซึ่งมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ในการก่อสร้างจริงทุกสัญญาจะต้องมีการเจาะสำรวจชั้นดินก่อนและในการก่อสร้างจริงต้องเปลี่ยนแปลงแบบเสาเข็มหลายสัญญาตามข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนายชวลิตดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเสาเข็มที่ระบุไว้ในสัญญานั้นยังอยู่ไม่เป็นการแน่นอนว่าจะต้องใช้เสาเข็มขนาดใด จำนวนเท่าใดเป็นการแน่นอน จะใช้เสาเข็มในการก่อสร้างจริงขนาดใดจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับผลการสำรวจสภาพดินที่จะทำการก่อสร้าง และข้อเท็จจริงยุติตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบว่าการก่อสร้างทั้งที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดเชียงรายนั้นส่วนที่ต้องใช้เสาเข็มโจทก์ใช้เสาเข็มมีขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดในแบบเดิม แต่มีจำนวนต้นน้อยกว่า ทว่าเสาเข็มที่ใช้รับน้ำหนักได้มากกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา และในการใช้เสาเข็มที่ทำการก่อสร้างจริงนั้นได้ผ่านการสำรวจตรวจสอบของทั้งสองฝ่ายแล้ว และโจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลยให้ใช้เสาเข็มตามที่ก่อสร้างจริงไปได้ ตามรายการต่อท้ายหนังสือสัญญาจ้างเหมาสำหรับการก่อสร้างที่จังหวัดสกลนคร และการก่อสร้างที่จังหวัดเชียงรายคำชี้แจงทั่วไประบุความไว้อย่างเดียวกันในข้อ 2.5.2 ว่า “การก่อสร้างฐานรากของอาคารใด ต้องใช้เสาเข็มชนิดที่สามารถรับน้ำหนักได้ตามกำหนดในแบบแปลน แต่เสาเข็มนั้นเป็นขนาดเล็กหรือจำนวนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ผู้ว่าจ้างกำหนดเป็นมาตรฐานราคากลาง ในการที่ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างหักเงินค่าจัดหารวมค่าตอกเข็มของอาคารนั้นออกเท่ากับจำนวนที่คำนวณได้จากสูตรที่กำหนดในเงื่อนไขการหักเงินค่าเข็ม” ข้อสัญญานี้เมื่อพิจารณาประกอบกับคำของนายชวลิตตามที่กล่าวข้างต้นนั้น ทำให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าในเรื่องเสาเข็มที่ใช้นั้น ถ้าผลสำเร็จในคุณภาพของงานที่จำเลยจะได้รับนั้นมีเท่าเดิมโดยโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงไปในการทำงานส่วนนี้แล้วค่าจ้างในส่วนนี้นั้นก็จะต้องลดลงตามส่วนโดยคำนวณตามสูตรที่กำหนดไว้ในการที่โจทก์จะต้องเปลี่ยนขนาดเสาเข็มที่ใช้เป็นขนาดใหญ่และคนละชนิดกับเสาเข็มตามสัญญานั้น ข้อเท็จจริงตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมานั้นมิใช่กรณีที่โจทก์เปลี่ยนตามความพอใจเพื่อความสะดวกในการทำงานของโจทก์ แต่เหตุที่ต้องเปลี่ยนก็เพราะสภาพของดินในสถานที่ก่อสร้างทั้งสองแห่งไม่อาจจะใช้เสาเข็มตามขนาดที่กำหนดไว้เดิมได้ เพราะเสาเข็มแบบตัวทีและมีขนาดตามที่กำหนดไว้นั้น เมื่อทดลองตอกแล้วจะเกิดการแตกหักเนื่องจากสภาพดินแข็ง จึงต้องใช้เสาเข็มต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าจึงจะตอกลงได้ และเสาเข็มที่ใช้จริงนั้นสามารถรับน้ำหนักได้ดีกว่า ดังนั้น การเปลี่ยนขนาดและชนิดของเสาเข็มนั้นเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่คู่กรณีเห็นชอบด้วยกัน การที่โจทก์ต้องทำหนังสือขออนุมัติเปลี่ยนขนาดและชนิดของเสาเข็มนั้นก็เป็นเพียงเพื่อให้เป็นการถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเท่านั้น เสาเข็มตามขนาดและชนิดที่กำหนดไว้กับเสาเข็มที่โจทก์ใช้จริงนั้นราคาแตกต่างกันมาก คือเสาเข็มรูปตัวทีตามที่กำหนดต้นละประมาณ 160 บาท แต่เสาเข็มที่โจทก์ใช้เป็นเสาเข็มต้นมีขนาดใหญ่กว่าราคาที่ปรากฏในราคาต้นละ 600 บาท และค่าตอกเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่นั้นเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการตอกต่อต้นย่อมจะสูงกว่าเสาเข็มที่มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้น การเปลี่ยนเสาเข็มตามที่กำหนดไว้ มาใช้เสาเข็มตามที่ใช้จริงจึงไม่เป็นกรณีที่ทำให้ผลงานในข้อนี้ของจำเลยลดคุณภาพและทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำงานส่วนนี้ตามสัญญาลดลงไป จึงไม่อยู่ในเจตนารมณ์ของข้อสัญญาข้อ 2.5.2 นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขในการหักเงินค่าเสาเข็มตามเอกสารหมาย จ.2, จ.3 หน้า 7 ตามสูตรx = y – abc1 นั้น
x = จำนวนเงินค่าเข็มที่จะหักออกตามเงื่อนไขนี้ (บาท)
y = จำนวนเงินที่กำหนดในตาราง – 1 (บาท)
a = จำนวนเสาเข็มที่ใช้จริง (ต้น)
b = ความยาวเส้นรอบรูปเสาเข็ม (เมตร)
c = ค่าที่กำหนดในตาราง – 1
1 = ความยาวเสาเข็มที่ใช้จริง (เมตร)
เสาเข็มรูปตัวทีที่ระบุไว้เดิมในสัญญากับเสาเข็มตันตามที่ใช้จริงนั้น ถึงแม้ความยาวรอบรูปจะเท่ากัน เสาเข็มตันจะมีคุณภาพในการใช้งานและราคามากกว่าจึงนำมาเป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ และค่า Cตามที่กำหนดไว้ในตาราง – 1 นั้น ค่าที่กำหนดให้ต้นละ 160 บาท โดยที่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเสาเข็มที่โจทก์ใช้จริงนั้นปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21 ว่าราคาต้นละ 600 บาท สูงกว่าค่าที่กำหนดไว้ในตาราง – 1หลายเท่า ถ้าจะนำสูตรดังกล่าวมาใช้กับค่าเสาเข็มที่โจทก์ใช้จริงก็จะผิดไปจากความเป็นจริง โดยลดลงจากราคาที่โจทก์ต้องจ่ายไปต่อต้นหลายเท่า และค่าใช้จ่ายในการตอกเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่สูงกว่าเสาเข็มขนาดเล็กตามที่ระบุไว้เดิม จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะคิดคำนวณจากค่าที่กำหนดในตารางสูตรดังกล่าว ตารางสูตรไม่อาจนำมาใช้กับกรณีของโจทก์ได้ และเมื่อพิจารณาข้อความในคำชี้แจงทั่วไป ข้อ 2.5.2ประกอบกับสูตรที่ใช้ในการหักเงินค่าเสาเข็มดังกล่าวแล้ว กรณีที่จำเลยจะหักเงินค่าเสาเข็มจากโจทก์นั้นจะทำได้ในเงื่อนไข 2 ประการคือ โจทก์ใช้เสาเข็มจำนวนเท่าเดิม และชนิดเดิมแต่ขนาดเล็กกว่าประการหนึ่ง หรือโจทก์ใช้เสาเข็มชนิดและขนาดเท่าเดิม แต่จำนวนต้นน้อยกว่าที่ระบุไว้แต่เดิมในสัญญาอีกประการหนึ่ง กรณีของโจทก์นั้นเสาเข็มที่ใช้เป็นเสาเข็มตันและขนาดใหญ่กว่า ซึ่งเป็นการต่างกันทั้งชนิดและขนาด และเมื่อตอกแล้วรับน้ำหนักได้มากกว่าเดิมจากที่กำหนดไว้ให้ใช้เสาเข็มตามที่ระบุไว้เดิมในสัญญา จำนองจึงไม่อาจจะนำเอาข้อกำหนดในรายการต่อท้ายหนังสือสัญญาจ้างเหมา ข้อ 2.5.2และสูตรที่ใช้เป็นเงื่อนไขในการหักค่าเสาเข็มดังที่กล่าวมาหักเงินค่าจ้างจากโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นการชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share