คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างถนนวงแหวนรอบนอกกับถนนบางนา – ตราดมีสัญญาณจราจรเส้นขาวทึบบนผิวทางห้ามมิให้รถที่แล่นมาจากถนนวงแหวนรอบนอกเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนบางนา – ตราดทันที ผู้ขับรถจะต้องขับรถเลยเส้นขาวทึบบนผิวทางไปก่อนจึงเบี่ยงขวาเข้าถนนบางนา – ตราดได้ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนบรรจบกัน ผู้ขับรถจะต้องใช้ความระมัดระวังและผู้ขับรถที่จะเบี่ยงเข้าถนนหลักต้องหยุดรถให้ทางแก่รถที่กำลังแล่นในถนนหลักผ่านไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 หาได้ปฏิบัติตาม การที่จำเลยที่ 1 ขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางไปชนรถโดยสารประจำทางของโจทก์ที่ ว. ขับผ่านมาโดยไม่หยุดรถให้ทางแก่รถของโจทก์ที่แล่นผ่านมาในทางเดินรถหลักก่อน จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ
ขณะเกิดเหตุฝนตกปรอยๆ ว. ขับรถโดยสารประจำทางโดยใช้เกียร์ 5 และขับรถด้วยความเร็ว 60 ถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถลงจากถนนวงแหวนรอบนอก จุดที่เกิดเหตุเป็นถนนวงแหวนรอบนอกบรรจบกับถนนบางนา – ตราดจึงเป็นบริเวณทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ขับขี่ที่ขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยกต้องลดความเร็วรถ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 แต่ไม่ปรากฏว่า ว. ชะลอความเร็วของรถลงเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกัน ว. จึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อให้เกิดเหตุก่อนโดยขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของ ว. และไม่หยุดรถให้ทางแก่รถที่ ว. ขับมาในทางเดินรถหลักผ่านไปก่อน จำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อมากกว่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,522,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อแรกว่า เหตุในคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายวงศ์แต่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารมากับรถโดยสารประจำทางของโจทก์ขณะเกิดเหตุต่างเบิกความว่าเห็นเหตุการณ์สอดคล้องต้องกันเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้นำพยานมาสืบหักล้าง คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้ เมื่อพิเคราะห์ภาพถ่าย พบว่าบริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างถนนวงแหวนรอบนอกกับถนนบางนา – ตราดมีสัญญาณจราจรเส้นขาวทึบบนผิวทางห้ามมิให้รถที่แล่นมาจากถนนวงแหวนรอบนอกเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนบางนา – ตราดทันที ผู้ขับรถจะต้องขับรถเลยเส้นขาวทึบบนผิวทางไปก่อนจึงเบี่ยงขวาเข้าถนนบางนา – ตราดได้ ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนบรรจบกันผู้ขับรถจะต้องใช้ความระมัดระวัง และผู้ขับรถที่จะเบี่ยงเข้าถนนหลักต้องหยุดรถให้ทางแก่รถที่กำลังแล่นในถนนหลักผ่านไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 หาได้ปฏิบัติตามไม่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางไปชนรถโดยสารประจำทางของโจทก์ที่นายวงศ์ขับผ่านมาโดยไม่หยุดรถให้ทางแก่รถของโจทก์ที่แล่นผ่านมาในทางเดินรถหลักก่อนจำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อแต่ได้ความจากคำเบิกความของนายวงศ์ว่า ขณะเกิดเหตุฝนตกปรอย ๆ พยานขับรถโดยใช้เกียร์ 5 และขับรถด้วยความเร็ว 60 ถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถลงจากถนนวงแหวนรอบนอกจุดที่เกิดเหตุเป็นถนนวงแหวนรอบนอกบรรจบกับถนนบางนา – ตราดจึงเป็นบริเวณทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ขับขี่ที่ขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยกต้องลดความเร็วรถ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 แต่ไม่ปรากฏว่านายวงศ์ชะลอความเร็วของรถลงเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุเป็นเหตุให้เกิดรถชนกัน นายวงศ์จึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อให้เกิดเหตุก่อนโดยขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของนายวงศ์และไม่หยุดรถให้ทางแก่รถที่นายวงศ์ขับมาในทางเดินรถหลักผ่านไปก่อน จำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อมากกว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวการของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างบริษัทเค.อาร์.ซี 1999 จำกัด จัดส่งพนักงานขับรถมาขับรถคันเกิดเหตุ ก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีพนักงานขับรถ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุเพื่อให้บริการแก่ผู้บริหารของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการขับรถในกิจการของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำหนดจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำหน้าที่ขับรถแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลรถยนต์ให้ต้องจอดที่อพาร์ตเมนต์ของผู้บริหารของจำเลยที่ 2 แต่กลับให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับบ้านพักก็เพื่อประโยชน์ในการนำรถยนต์กลับมารับผู้บริหารในวันรุ่งขึ้น ขณะเกิดเหตุจึงยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตัวแทนต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่กระทำแทนตัวการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถแทนจำเลยที่ 2 เข้าลักษณะตัวการตัวแทน การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะตัวการ จึงชอบแล้วมิได้เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกคำให้การ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าซ่อมรถโดยสารประจำทางของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า นายณัฏฐ์ และนายวสันต์ พยานโจทก์ ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์จ้างนายรัชนูและนายวสันต์ซ่อมรถ โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมค่าอะไหล่รถแล้วโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบหักล้างว่าความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามที่พยานโจทก์เบิกความ ดังนี้ ใบเสนอราคา และใบส่งของ ซึ่งระบุรายการซ่อมและอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมรถ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้ทำการซ่อมรถและจ่ายค่าซ่อม ค่าอะไหล่ไปเรียบร้อยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงเกินคำขอของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share