แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวตั้งแต่เจ้ามรดกตายไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่าทายาทคนนั้นครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
ป.พ.พ. มาตรา 1745 มีความหมายว่าให้นำบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกรรมสิทธิรวม มาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพ 6 เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 1599 ย่อมเห็นได้ว่ากรณีมีทายาทหลายคนเมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกแก่ทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันไม่ใช่เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่ยังไม่เป็นเจ้าของร่วมกันตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทุกอย่างและยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในบรรพ 6 ด้วย เช่น ทายาทที่ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในอายุความก็อาจสูญเสียสิทธิในการเป็นทายาทหรือทายาทสละมรดกโดยถูกต้องตามแบบการสละมรดกหรือทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งแตกต่างกับการเป็นเจ้าของรวมตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิรวมที่ต้องเสียสิทธิเมื่อเจ้าของร่วมคนอื่นแย่งการครอบครองหรือเจ้าของรวมสละความเป็นเจ้าของหรือตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้นทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวจึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6213 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1917 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1970 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12006 และ 12007 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 502, 509 และ 304 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่ดินแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเลขที่ 189 หมู่ 2 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นทรัพย์มรดกของนางทองดี ให้จำเลยทั้งห้านำโฉนดที่ดินเลขที่ 6213 หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1917 หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1970 หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 304 และโฉนดที่ดินเลขที่ 12006 และ 12007 ไปทำนิติกรรมแบ่งให้โจทก์ทั้งสามตามส่วน หากจำเลยทั้งห้าไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้าและขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมของนายสุวงค์ที่ทำกับจำเลยทั้งห้าและกำจัดจำเลยทั้งห้าไม่ให้รับมรดกของนางทองดีในโฉนดที่ดินเลขที่ 6213, 12006 และ 12007 หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1917 และ 1970
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 502 และ 509 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 189 หมู่ที่ 2 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1917 และ 1970 ตั้งอยู่ที่ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เฉพาะส่วนของนางทองดีเป็นทรัพย์มรดกของนางทองดีที่ยังไม่ได้มีการแบ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6213 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นทรัพย์มรดกของนางทองดีที่ยังไม่ได้แบ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นางอุบลวรรณ ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนางทองดีที่ยังไม่ได้แบ่งหรือไม่ โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกของนางทองดีที่ยังไม่ได้แบ่งโดยนายสุวงค์ครอบครองมรดกแทนโจทก์ทั้งสาม โจทก์มีหน้าที่นำสืบ แต่กลับได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ประกอบอาชีพรับราชการก่อนนางทองดีถึงแก่ความตายมิได้อยู่อาศัยกับนางทองดี ส่วนนายคำพิลา บิดาของโจทก์ที่ 3 ก็ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่อาศัยกับนางทองดี คงมีนายสุวงค์และจำเลยที่ 1 ยังคงมีภูมิลำเนาแห่งเดียวกับนางทองดี ขณะที่นางทองดีถึงแก่ความตาย นายสุวงค์คงปลูกบ้านอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี 2500 โดยโจทก์ทั้งสามไม่เคยเข้าครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวเลย นับแต่นางทองดีถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า นายสุวงค์ครอบครองแทนโดยไม่มีพยานสนับสนุน ดังนั้น การครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินของนายสุวงค์นับแต่นางทองดีถึงแก่ความตาย จึงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว โดยที่ทายาทอื่นไม่ได้เข้าร่วมครอบครองด้วย ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์มรดก แล้วถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่น แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 จะบัญญัติว่า ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึง 1366 บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพนี้ แต่บทกฎหมายดังกล่าวมีความหมายว่า ให้นำบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทั้งหมวดมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพ 6 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 1599 ที่บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกเป็นของทายาทเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ แต่ยังไม่เป็นเจ้าของร่วมกันตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทุกอย่าง และยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในบรรพ 6 ด้วย เช่น ทายาทที่ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่น ไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในอายุความก็อาจสูญเสียสิทธิในการเป็นทายาทหรือทายาทสละมรดกโดยถูกต้องตามแบบการสละมรดกหรือทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งแตกต่างกับการเป็นเจ้าของรวมตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมที่ต้องเสียสิทธิเมื่อเจ้าของรวมคนอื่นแย่งการครอบครองหรือเจ้าของรวมสละความเป็นเจ้าของหรือตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้น ที่ศาลล่างวินิจฉัยว่า นายสุวงค์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแทนโจทก์ทั้งสามและทายาทอื่น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า นางทองดีถึงแก่ความตายเมื่อปี 2531 นายสุวงค์ได้ยื่นคำร้องขอโอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 ตามหนังสือขอรับโอนมรดก ก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน และต่อมานายสุวงค์ได้ขอออกเป็นโฉนดที่ดินและทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินให้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2538 ก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นขณะที่นายสุวงค์มีชีวิตก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้านการครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินของนายสุวงค์หรือมีการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางทองดีแต่ประการใด ครั้นนายสุวงค์ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ยังได้นำไปจำนองไว้แก่ธนาคาร ก็ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้าน โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมายื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางทองดีและศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางทองดีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2542 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1530/2542 ตามสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้น ภายหลังจากนางทองดีถึงแก่ความตายกว่า 10 ปี โดยไม่ปรากฏว่าตามคำร้องและคำสั่งศาลได้ระบุว่ามีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ประกอบกับตามหนังสือที่ทนายความผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสามบอกกล่าวขอให้จำเลยทั้งห้าแบ่งมรดกก็ไม่ได้ระบุว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินเป็นที่ดินมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งเช่นกัน ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า นายสุวงค์ไม่ได้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแทนทายาทอื่น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางทองดีก็เบิกความยืนยันว่า นายสุวงค์ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแต่ผู้เดียว โดยโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และนายคำพิลาตกลงให้นายสุวงค์ผู้เดียวและไม่ติดใจ เนื่องจากนายสุวงค์ส่งเสียให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เล่าเรียน ความข้อนี้โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความทำนองว่า นายสุวงค์ส่งเสียให้เล่าเรียน ส่วนนายคำพิลานั้น จำเลยที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่านายคำพิลาได้ที่ดินที่บ้านนาถ่อนทุ่งแล้วไม่ติดใจที่จะเอาและนายสุวงค์เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามใบเสร็จรับเงิน ความข้อนี้โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งห้าว่า นายสุวงค์เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่กับมีนายประสงค์ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ปกครองท้องที่เบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งห้าว่า นายสุวงค์เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ คำของจำเลยที่ 1 เป็นปฏิปักษ์กับตนเองทำให้เสียสิทธิในการรับมรดก จึงมีน้ำหนักให้รับฟังพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งห้านำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสาม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนางทองดีที่ได้แบ่งปันระหว่างทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่งแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ