คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8457/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่ กทท. ไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนพื้นที่ประเมินไว้สูงเกินสมควร ซึ่งต้องนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีแทน กทท. ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้
สัญญาเช่านอกจากจะอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือแล้ว ยังให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของ กทท. โดย กทท. มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือบี 1 ให้แก่โจทก์ใช้ประโยชน์และพัฒนาท่าเทียบเรือ โดยโจทก์ต้องจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการเช่าทรัพย์สินด้วย กทท. จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และหาก กทท. ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้สูงเกินสมควร กทท. จะต้องนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อ กทท. ได้นำคำชี้ขาดเสนอ ครม. ภายในสามสิบวันแล้ว แต่ ครม. ยังไม่มีมติ กทท. จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินเล่มที่ 30 เลขที่ 40 ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2552 และคำวินิจฉัยชี้ขาดเล่มที่ 1 เลขที่ 5 ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2552 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษี 10,931,905.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรือให้โจทก์เสียภาษีตามอัตราตารางเมตรโดยเทียบเคียงกับท่าเทียบเรือรายอื่นในท่าเรือแหลมฉบัง หรือให้ลดภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เรียกเก็บเพียงไม่เกิน 4,538,910 บาท โดยให้คืนเงินภาษีให้แก่โจทก์ 6,392,995.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมิน เล่มที่ 30 เลขที่ 40 ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2552 และคำวินิจฉัยชี้ขาด เล่มที่ 1 เลขที่ 5 ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2552 โดยกำหนดค่ารายปีของท่าเทียบเรือบี 1 ประจำปีภาษี 2552 เป็นเงิน 36,311,280 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 4,538,910 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่เรียกเก็บเกินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแสดงสภาพแห่งข้อหาในตอนต้นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายอื่นบรรดาที่เรียกเก็บสำหรับอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนอกจากอาคารและที่ดินที่ให้เช่า ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ระบุว่าเฉพาะกรณีที่ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้มีจำนวนสูงเกินสมควรเท่านั้น จึงให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ แต่หากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงไม่ใช่กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนการท่าเรือแห่งประเทศไทย หากจำเลยทั้งสองเรียกเก็บภาษีเกินไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้ กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเรือบี 1 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 หรือไม่ เห็นว่า นอกจากมีข้อสัญญาอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยปลูกสร้างขึ้นและการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การท่าเรือแห่งประเทศไทยยินยอมให้เช่าและโจทก์ตกลงที่จะเช่าท่าเทียบเรือตู้สินค้า ณ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังสำหรับพัฒนาบริหารและประกอบการให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาภายในระยะเวลากำหนด โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือบี 1 ให้แก่โจทก์ได้ใช้ประโยชน์และต้องพัฒนาท่าเทียบเรือโดยจัดหาทรัพย์สินตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจตามข้อตกลงในสัญญา ส่วนโจทก์ก็มีหน้าที่ดูแลรักษากับเอาประกันภัยทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์และยังมีการกำหนดค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย อันแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และโจทก์เป็นเช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์ และแม้การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมคงที่ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนการได้สิทธิในการเข้ามาบริหารท่าเทียบเรือ และค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งจัดเก็บตามปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านท่าเทียบเรือนั้น ๆ ซึ่งอาจมีบางส่วนที่คิดเป็นค่าตอบแทนในการให้สิทธิโจทก์ได้เข้าดำเนินการท่าเรือเพื่อแสวงหากำไรเป็นของโจทก์ได้ก็ตาม แต่ก็มีค่าธรรมเนียมคงที่ซึ่งอย่างน้อยย่อมคิดในลักษณะค่าเช่าเป็นผลตอบแทนจากการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าท่าเทียบเรือบี 1 ด้วย ย่อมแสดงว่าสัญญาระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับโจทก์แม้จะมีข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่างแต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการให้สิทธิโจทก์เข้าใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและต้องจ่ายค่าตอบแทนตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาอันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ไม่ว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาจะเป็นกรณีที่โจทก์เข้าประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคที่กระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน หรือเป็นการให้บริการสาธารณะอันมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีส่วนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเช่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 กำหนดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับยกเว้นค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายอื่น บรรดาที่เรียกเก็บสำหรับอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนอกจากอาคารและที่ดินให้เช่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยยินยอมให้โจทก์เช่าท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าบี 1 โดยการพัฒนา บริหารและประกอบการให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงมิได้รับยกเว้นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่ารายปีควรเป็นเท่าใด โจทก์บรรยายฟ้องในประเด็นนี้ว่า จำนวนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยที่ 1 ประเมินเรียกเก็บสูงเกินส่วน เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในสัดส่วนที่ใช้ประโยชน์จริง โดยนำเอามูลค่าก่อสร้างและค่าตอบแทนของท่าเทียบเรือบี 1 ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างโดยการลงทุนของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่น้อยกว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรืออื่นมาเป็นฐานในการคำนวณภาษี การคำนวณสัดส่วนการใช้พื้นที่ที่ถูกต้องควรนำมูลค่าค่าตอบแทนคงที่รายปีมาคำนวณหาสัดส่วนตามพื้นที่การใช้ประโยชน์เฉพาะโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างจากการใช้ประโยชน์ทั้งหมด ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ประเมินไว้และจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดนั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงต้องนำเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามบทบัญญัติมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งนายอลงกรณ์ พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยพยานโจทก์เบิกความประกอบหนังสือเรื่องขอลดหย่อนค่ารายปีการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ประจำปี 2552 การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 แต่คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติในเรื่องการลดหย่อนค่ารายปีให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและกำหนดค่ารายปีใหม่โดยให้จำเลยที่ 1 คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share