คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11344/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ว. ฝากเงินเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่ ว. ยืมเงินโจทก์ไป ถือว่าโจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องในการที่ ว. กระทำความผิดแสดงว่าโจทก์รับเงินดังกล่าวมาโดยสุจริต ซึ่งสิทธิของโจทก์ผู้ได้เงินตรามาโดยสุจริตนั้น ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าเงินนั้นมิใช่ของบุคคลซึ่งได้โอนให้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1331 โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,004,244 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 979,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้องและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์คืนเงิน 215,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 979,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 3 มีนาคม 2554) ต้องมิให้เกิน 24,494 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 7,500 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกและรับฝากเงินจากสมาชิก จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับแนะนำการบริการกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินในกิจการทั้งหลายของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2511 และเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบัญชีว่านางเกื้อกูล ซึ่งเป็นชื่อและชื่อสกุลของโจทก์ นางวรรณนิภา พนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแจ้งให้โจทก์ทราบว่านางวรรณนิภาได้โอนเงินจำนวน 1,179,750 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่นางวรรณนิภากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ โจทก์จึงนำสมุดบัญชีคู่ฝากไปปรับยอดเงิน ต่อมานางพรภินันท์ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อจำเลยที่ 1 ว่า นางวรรณนิภาปลอมลายมือชื่อของนางพรภินันท์เป็นผู้ขอกู้เงินในคำขอกู้เงิน จำเลยที่ 1 จึงตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนพบว่า มีการปลอมเอกสาร
คำขอกู้เงินจริงและเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้นางพรภินันท์กู้ 3,492,303.75 บาท ได้โอนเข้าบัญชีเงินฝากของบุคคล 4 คน คือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางพรภินันท์ นางบุญสุข นางวรรณนิภาและโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการที่นางวรรณนิภาปลอมเอกสาร จำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์คืนเงิน 1,179,750 บาท ที่มีการนำฝากโอนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์และโจทก์มีหนังสือตอบกลับว่า เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์ได้รับชำระหนี้กู้ยืมมาจากนางวรรณนิภาและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้อายัดเงินฝากจำนวนดังกล่าวไว้ ต่อมานางพรภินันท์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 นางวรรณนิภาและพนักงานของจำเลยที่ 1 อีก 4 คน ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญา ข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3511/2551 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ส่วนนางวรรณนิภาซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 และพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้อง ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีอาญา จำเลยที่ 2 อนุมัติให้โจทก์ถอนเงินฝากดังกล่าวไป 200,000 บาท ต่อมานางวรรณนิภาให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 จึงอนุมัติให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อมาชำระหนี้แก่นางพรภินันท์ เมื่อนางพรภินันท์ได้รับชำระหนี้แล้วจึงถอนฟ้องพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ในคดีดังกล่าว คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาทำนองว่า ยังไม่มีการส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากทรัพย์สินที่พิพาทในคดีนี้คือ เงินซึ่งโอนจากบัญชีคนหนึ่งไปยังบัญชีอีกคนหนึ่ง แต่ก็โอนอยู่ภายในบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนออกไปข้างนอกหรือโอนฝากจากข้างนอกเข้ามาในบัญชีของจำเลยที่ 1 กรณีจึงเป็นเงินที่ยังอยู่ในบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตรวจพบว่าเงินที่เข้าบัญชีของโจทก์จากการกระทำความผิดคือ โอนเข้ามาโดยไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะปรับโอนเงินคืนให้ถูกต้องนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในเรื่องนี้ไว้ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังให้การว่าอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่มีการนำฝากโอนเข้าบัญชีของโจทก์ไปจำนวน 200,000 บาท จึงเป็นการยอมรับว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีเป็นเงินฝากในบัญชีของโจทก์แล้ว กรณีจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิในเงินจำนวน 1,179,750 บาท หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เงินที่นางวรรณนิภาโอนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากอยู่กับจำเลยที่ 1 นั้น นางวรรณนิภาได้มาจากการกระทำความผิดของตนที่กระทำต่อจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิในเงินดังกล่าว “ตามหลักกฎหมายลาภมิควรได้ และผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” เห็นว่า การที่นางวรรณนิภานำฝากโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เป็นการชำระหนี้ที่นางวรรณนิภากู้ยืมเงินโจทก์ไป จึงถือได้ว่าโจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่รับไว้ในฐานะลาภมิควรได้ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องในการที่นางวรรณนิภากระทำความผิด แสดงว่าโจทก์รับโอนเงินดังกล่าวมาโดยสุจริต ซึ่งสิทธิของโจทก์ผู้ได้เงินตรามาโดยสุจริตนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าเงินนั้นมิใช่ของบุคคลซึ่งได้โอนให้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1331 โจทก์จึงได้รับการคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” และเมื่อนางวรรณนิภาโอนเงินจำนวน 1,179,750 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์จึงเป็นการฝากเงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิในเงินฝากจำนวน 1,179,750 บาท โจทก์ได้ถอนเงินไปแล้วจำนวน 200,000 บาท จึงยังเหลือเงินในส่วนนี้จำนวน 979,750 บาท เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินแก่โจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share