คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8910/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยนำหนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยกับ ส. ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับมานำสืบและแสดงเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 264, 268, 180 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งโจทก์ได้ฟ้องแล้ว คดีนี้โจทก์นำการกระทำของจำเลยในคดีอาญาเรื่องก่อนมาฟ้องจำเลยอีก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสิทธิและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 ซึ่งแตกต่างกัน แต่มูลคดีนี้ก็มาจากการกระทำอันเดียวกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2539 เวลากลางวันจำเลยนำหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยกับนางสมร วัดบุญเลี้ยง ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับมานำสืบและแสดงเป็นพยานในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 204/2539 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดี ความจริงแล้วไม่มีการกู้เงินตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยกับนางสมรร่วมกันทำสัญญากู้เงินปลอมเพื่อฉ้อฉลเอาทรัพย์สินจากโจทก์โดยทุจริตทำให้ศาลเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง และพิพากษาให้นางสมรชำระหนี้แก่จำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 180, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2545 โจทก์ฟ้องจำเลยว่า นำหนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยกับนางสมร (อดีตภริยาโจทก์) ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับมานำสืบและแสดงเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 204/2539 ของศาลชั้นต้น ตามคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3026/2545 (คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545) ของศาลชั้นต้น เอกสารหมาย ล.2 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งยกคำร้องตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 เอกสารหมาย ล.3 คดีถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545 และคดีนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4) นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545 ว่า จำเลยนำหนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยกับนางสมรทำปลอมขึ้นทั้งฉบับมานำสืบและแสดงเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 204/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 180 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งโจทก์ได้ฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545 แล้ว คดีนี้โจทก์นำการกระทำของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545 มาฟ้องจำเลยอีก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสิทธิและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ด้วย แตกต่างจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545 ก็ตาม แต่มูลคดีนี้ก็มาจากการกระทำอันเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545 เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3806/2545 แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share