แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อแล้วแต่ให้พยานลงชื่อลับหลังผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมยังคงสมบูรณ์ตาม ม.1657
ย่อยาว
คดีได้ความว่า นายเคลื่อนเดิมชื่อเนียม มีภรรยาชื่อเรียง ( บุตรจำเลย ) มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ต่อมานางเรียงตาย นายเคลื่อนได้โจทก์นี้ ซึ่งเป็นอาว์นางเรียงเป็นภรรยาใหม่ แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ก่อนนายเคลื่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกที่บ้าน ๑ แปลงให้โจทก์ ส่วนเรือน ๑ หลังในที่แปลงนี้ให้โจทก์ ๑ ห้อง อีก ๑ หลังให้จำเลยอาศัยอยู่ก่อน จำเลยขัดขวางการรับมรดก โจทก์จึงฟ้องขอรับผลตามพินัยกรรม ส่วนจำเลยต่อสู้ว่าทั้งที่บ้านและเรือนเป็นของจำเลย และว่าพินัยกรรมนายเคลื่อนไม่ชอบด้วย ก.ม.
ศาลชั้นต้นเห็นว่าพินัยกรรมสมบูรณ์ แต่ทรัพย์ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายเคลื่อนกับนางเรียง พินัยกรรมจึงมีผลผูกพันเพียงส่วนของนายเคลื่อน พิพากษาให้แบ่งทรัพย์ที่พิพาทเป็น ๑๘ ส่วน ๑๒ ส่วนเป็นของนายเคลื่อน อีก ๖ ส่วนเป็นของนางเรียงตกได้แก่นายเคลื่อน นายวอนจำเลย กับบุตรนางเรียง ๔ คน ดังนั้นโจทก์ผู้รับพินัยกรรมนายเคลื่อน จึงได้ ๑๓ ส่วน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกสินสมรสส่วนของนายเคลื่อน ๒ ใน ๓ ส่วน ๆ อีก ๑ ใน ๓ เป็นของนางเรียงตกได้แก่ทายาทของนางเรียงซึ่งรวมทั้งนายเคลื่อนด้วย แต่ในคดีนี้ไม่สะดวก และสมควรจะวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนมรดกของนางเรียง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายเคลื่อนกับนางเรียง ไม่ใช่ของจำเลย พินัยกรรมนายเคลื่อนที่ว่าขาดพยาน และพยานลงชื่อลับหลังผู้ทำพินัยกรรมไม่สมบูรณ์ตาม ม.๑๖๕๖ นั้น เห็นว่านายเคลื่อนเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อของตนสมบูรณ์แบบตาม ม.๑๖๕๗ แล้ว ไม่เป็นโมฆะ
พิพากษายืน